ปัดฝุ่นตั้ง‘กองทุนการเงินเอเชีย’ ปลดแอกจาก‘ไอเอ็มเอฟ-ดอลลาร์’
ปัดฝุ่นตั้ง‘กองทุนการเงินเอเชีย’ ปลดแอกจาก‘ไอเอ็มเอฟ-ดอลลาร์’ โดยนายกฯมาเลเซียระบุว่า เราไม่สามารถมีโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศที่ให้คนนอกเป็นผู้ตัดสินใจได้ เราสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ แต่เราควรมีความแข็งแกร่งในประเทศ ภายในภูมิภาคของเราเอง"
ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนทั้งในประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียที่เรียกร้องให้รื้อฟื้นการจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เวอร์ชั่นเอเชีย ให้เป็นรูปธรรม เพื่อใช้เป็นกลไกที่จะทำงานร่วมกันในการรับมือกับวิกฤตการเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540
“เราไม่สามารถมีโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศที่ให้คนนอกเป็นผู้ตัดสินใจได้ เราสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ แต่เราควรมีความแข็งแกร่งในประเทศ ภายในภูมิภาคของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันแต่ให้ทำหน้าที่เหมือนพื้นที่กันชน”นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว
ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับการชื่นชมจากจีนในทันที โดย
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้หยิบยกข้อเสนอนี้ขึ้นมาหารืออีกรอบกับผู้นำจีน
“ตอนที่ผมพบปะกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่านพูดว่าอยากสอบถามถึงข้อเสนอของผมเกี่ยวกับกองทุนการเงินเอเชีย และท่านยินดีที่ได้มีการพูดคุยกันและไม่มีเหตุผลที่มาเลเซียต้องเดินหน้าพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ" นายกรัฐมนตรีอันวาร์ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันที่ 4 เม.ย.
นายอันวาร์ ต้องทิ้งแผนเสนอจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังมาเลเซียสมัยแรก ในช่วงทศวรรษ 1990 เนื่องจากในช่วงเวลานั้น แนวคิดนี้ไม่เป็นที่ดึงดูดใจมากพอ เนื่องจากตอนนั้นดอลลาร์สหรัฐถูกมองว่ามีความแข็งแกร่ง แต่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็แข็งค่าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ย.ปี 2565 ส่วนสกุลเงินอื่นๆ ของเอเชียพร้อมใจกันอ่อนค่ามากสุดในรอบหลายทศวรรษ
การพยายามปัดฝุ่นกองทุนการเงินเอเชียอีกครั้งของผู้นำมาเลเซีย มีขึ้นหลังจากเมื่อไม่นานมานี้ จีนและบราซิลบรรลุข้อตกลงละทิ้งดอลลาร์สหรัฐ หันไปใช้สกุลเงินของตนเองในการทำธุรกรรมค้าขายระหว่างกัน
จีน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของบราซิล คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของยอดนำเข้าทั้งหมด ตามมาด้วยสหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นตลาดการส่งออกใหญ่ที่สุดของบราซิล คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกโดยรวม
ในส่วนของชาติสมาชิกอาเซียนเองก็พยายามลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน โดยในการประชุมกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค.กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องต้องกันที่จะใช้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคและลดการพึ่งพาสกุลเงินใหญ่ของต่างชาติ สำหรับการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน
“เดวิด อี ซูโมล” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย(บีซีเอ) ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ระบุว่า แผนการของอาเซียนในการเพิ่มความเป็นอิสระทางการเงิน ด้วยการลดการพึ่งพาเงินสกุลหลักและระบบการชำระเงินต่างชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าในการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในหลายพื้นที่ของโลก
ซูโมลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ระบบการเงินโลกในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับพลวัตตลาด
“พื้นฐานความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนแปรเปลี่ยนไปแล้ว แต่โครงสร้างการเงินโลกยังคงเป็นเช่นเดิม” ซูโมลระบุ พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า กระบวนการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางด้วย
ซูโมล กล่าวด้วยว่า การใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค ช่วยลดอุปสงค์เงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินหลักอื่น ๆ โดยไม่เพียงส่งเสริมการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาวะตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หากเกิดวิกฤตขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก
ขณะที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ที่มีสาเหตุมาจากการเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน เป็นเหตุให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัสเซียและจีนในการทำการค้าระหว่างกันโดยใช้ระบบการเงินของตน เพื่อที่จะให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ และลดบทบาทการพึ่งพาของตนต่อเงินดอลลาร์
ตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนในช่วงต้นปี 2565 ปริมาณการแลกเปลี่ยนโดยใช้ ‘หยวน-รูเบิล’ เพิ่มขึ้นกว่า 80 เท่าตัว และมีรายงานจากสำนักข่าวเวโดมอสติ ของรัสเซียอีกว่า รัสเซียและอิหร่านกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีที่มีทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
นอกเหนือจากรัสเซียและจีน บางประเทศก็เริ่มวางแผนที่จะค่อยๆลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน รวมถึงคู่ค้าอย่างอาร์เจนตินา และบราซิล ที่กำลังหารือเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินกลางสำหรับสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ส่วนรอยเตอร์ รายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดียก็กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาที่จะใช้เงินรูปีของอินเดียซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน และเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปีที่ซาอุดีอาระเบียและประเทศที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ เปิดรับการซื้อขายน้ำมันโดยใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่ถึงแม้ตอนนี้จะมีกระแสลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่าตัวเลือกอื่นๆ ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในการยอมรับสกุลเงินทางเลือก และสภาพคล่องที่ยังไม่มากพอ เพราะฉะนั้นดอลลาร์สหรัฐจึงยังมีความได้เปรียบเพราะมีมูลค่าตลาดที่แข็งแกร่งทั่วโลก