สนามบินนำ ‘ของเหลว’ ขึ้นเครื่องได้แล้ว? เปิดเหตุผลบางสนามบินไร้กฎพกของเหลว
สนามบินหลายแห่งเริ่มประกาศยกเลิกกฎการห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่อง หลังมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 มองว่า กระบวนการนี้จะช่วยเสริมความปลอดภัย-ลดความเทอะทะให้กับนักเดินทางทั่วโลก
Key Points:
- กฎ “ห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องบิน” เป็นที่รู้จักกันดี หากจะนำของเหลวใส่กระเป๋าขึ้นเครื่องไปด้วย ต้องมีความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตรต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์
- การเปลี่ยนเครื่องสแกน คือ ตัวแปรหลักที่ทำให้ความละเอียดในการตรวจสอบสัมภาระแม่นยำมากขึ้น
- ตอนนี้ หลายประเทศเริ่มมีการยกเลิกกฎเหล็กดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย พร้อมทั้งลดความแออัด-คับคั่งในสนามบินได้ดีขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักเดินทางว่า หนึ่งใน “ของต้องห้าม” ที่ไม่สามารถพกติดกระเป๋าขึ้นเครื่องบินได้เลย ก็คือของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตรทุกประเภท
แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน มีสนามบินหลายแห่งที่ยกเลิกกฎห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานลอนดอนฮีธโทรว์ ท่าอากาศยานลอนดอนซิตี้ ท่าอากาศยานนานาชาติฮาร์ตสฟีลด์-แจ็กสัน แอตแลนตา รวมถึงสนามบินอีกหลายแห่งในอังกฤษที่มีความพยายามในการยุติกฎเกณฑ์การจำกัดของเหลวขึ้นเครื่องเช่นกัน
ทำไมที่ผ่านมาการนำของเหลวขึ้นเครื่องจึงกลายเป็นกฎเหล็กของสนามบินทั่วโลก เหตุผลภายใต้ข้อห้ามดังกล่าวคืออะไร และปัจจุบัน มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแบบไหนที่ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย โดยไม่ต้องจำกัดปริมาณของเหลวขึ้นเครื่องกันอีกแล้วบ้าง
- ที่มาที่ไปของกฎเหล็กห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่อง
หลังมีรายงานข่าวเรื่องการยกเลิกกฎนำของเหลวขึ้นเครื่องบิน ก็เกิดคำถามตามมามากมายว่า แล้วที่ผ่านมา ทำไมของเหลวจึงถูกบัญญัติเป็นข้อห้ามสำหรับการเดินทางทางอากาศทั่วโลก
รายงานจากสำนักข่าวดิอินดีเพนเดนต์ (The Independent) ระบุว่า ข้อจำกัดดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นหลังกรณีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในปีพ.ศ. 2549 โดยขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ลักลอบพกพาสารประกอบระเบิดในลักษณะของเหลวซุกซ่อนมากับขวดน้ำดื่ม โชคดีที่ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่สามารถระงับเหตุได้ทัน ซึ่งก็ได้มีการประเมินในภายหลังว่า หากคนร้ายก่อเหตุสำเร็จ ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอาจเทียบเคียงได้กับ “โศกนาฏกรรม 911” เลยทีเดียว
ผลสะเทือนหลังจากนั้น คือ มีการตรวจสอบ-เตรียมการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดมากขึ้น ของเหลวหลายตันถูกยึดทิ้งที่สนามบินรายวัน ประชาชนได้รับผลกระทบจากการตรวจสอบสัมภาระที่ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น
หลังจากนั้น อังกฤษได้ออกกฎห้ามนำของเหลวที่มีปริมาณเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบิน พัฒนาสู่การบัญญัติเป็นกฎระเบียบขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ “ICAO” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยกรมการขนส่งทางอากาศในประเทศไทย รวมถึงกฎระเบียบการบินในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็ขานรับด้วยเช่นกัน
- ยกเลิกกฎระเบียบ ให้ความสะดวกด้วยเทคโนโลยี “เครื่องสแกนสามมิติ”
รายงานจากสำนักข่าวบีบีซี (BBC) เมื่อปีค.ศ. 2019 ระบุว่า บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศแผนการดำเนินงานครั้งใหม่ เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย-รวดเร็วในการตรวจสอบก่อนขึ้นเครื่อง และหากเป็นไปตามแผน เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยยุติกฎระเบียบเรื่องของเหลว รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบแล็ปท็อปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างความยุ่งยากให้ผู้โดยสารได้
ซึ่งในเวลาต่อมา ข้อเสนอดังกล่าวก็ได้ถูกพิจารณาเป็นหนึ่งในวาระของคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้สนามบินทั่วทั้งสหราชอาณาจักรสามารถยกเลิกกฎการพกของเหลวขึ้นเครื่องให้ได้ภายในปีค.ศ. 2024
สำหรับอุปกรณ์ที่จะมีการติดตั้งเพื่อให้การตรวจสอบสัมภาระละเอียดแม่นยำมากขึ้น ได้แก่ เครื่อง “ซีทีสแกน” เครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายกับอุปกรณ์ในโรงพยาบาล ซึ่งจะเผยให้เห็นถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ชัดเจนมากกว่าเครื่องสแกนแบบเดิม ทั้งนี้ ได้มีการทดลองใช้ที่สนามบินฮีทโธรว์มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 และจะค่อยๆ ทยอยติดตั้งสนามบินหลักทั้งประเทศ
ด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ ทำให้ปัจจุบันผู้โดยสารสามารถพกของเหลวได้มากสุดถึง 2 ลิตร ไม่ต้องใส่อุปกรณ์อาบน้ำแยกขวดขนาดพกพา รวมถึงยังสามารถใส่แล็ปท็อปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในกระเป๋าพร้อมตรวจสอบผ่านเครื่องสแกน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการแยกของออกเหมือนในอดีต
ปัจจุบัน สนามบินที่ได้มีการยกเลิกกฎการพกของเหลว ได้แก่
- สนามบินฮีทโธรว์ สหราชอาณาจักร
- สนามบินนานาชาติฮาร์ตสฟีลด์–แจ็กสัน แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา
- สนามบินโอแฮร์ ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
- สนามบินลอนดอนซิตี้ อังกฤษ
- สนามบินอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล เนเธอร์แลนด์
สำหรับใครที่กังวลว่า เครื่องสแกนสามมิติ หรือ เครื่องซีทีสแกน จะแม่นยำถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สนามบินลอนดอนซิตี้ ที่ได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับการใช้เครื่องสแกนสามมิติ และการตรวจเช็กสัมภาระจากเครื่องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระดับความแม่นยำการประมวลผลผ่านการเอ็กซเรย์ในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากกว่าที่เคยเป็น รวมทั้งเครื่องยังมีความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่างของเหลวที่เป็นอันตรายและปลอดภัยได้ด้วย
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยลดความแออัด-เชื่องช้าในสนามบิน ลดจำนวนเวลารอ ลดอัตราการตกเครื่อง-ไปไม่ทันเวลา เพียงเพราะพวกเขามีแชมพูที่ขวดใหญ่เกินไปนั่นเอง
อ้างอิง: BBC 1, BBC 2, BBC 3, BBC 4, The Independent 1, The Independent 2, Reuters, Yourmileagemayvary