'การบินเป็นมิตรกับสวล.' ภารกิจสร้างความยั่งยืนยุโรป

'การบินเป็นมิตรกับสวล.' ภารกิจสร้างความยั่งยืนยุโรป โดยการบรรลุข้อตกลงด้านการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของยุโรป ออกแบบมาเพื่อให้ยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานโดยตรง
ตัวแทนเจรจาจากสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในภาคการเดินทางทางอากาศ และพยายามลดโลกร้อนด้วยการกระตุ้นตลาดเชื้อเพลิงการบินสีเขียวของภูมิภาค ให้ใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนมากขึ้น
ชาติสมาชิกอียู บรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า "เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน"หลังเจรจาร่วมกันเมื่อวันอังคาร (25 เม.ย.) และเป็นการบรรลุข้อตกลงของรัฐสภายุโรปกับคณะรัฐมนตรีในอียู ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากประเทศสมาชิกอียูทั้งหมดเพื่อบัญญัติเป็นกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป
ภายใต้กฎระเบียบใหม่ กำหนดให้ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงสำหรับการการบิน ต้องจัดหาเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนหรือเอสเอเอฟไว้ใช้ในสนามบินทั่วยุโรปภายในปี 2568 และขั้นต่ำต้องมีเชื้อเพลิงยั่งยืน 2% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้งานทั้งหมด ก่อนจะเพิ่มเป็น 6% ภายในสิ้นทศวรรษ 2573 และเพิ่มเป็น 70% ภายในปี 2593
นอกจากนี้ สายการบินที่เดินทางออกจากสนามบินในยุโรป ต้องเติมเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็นต่อการเดินทางเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สายการบินจงใจเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเกินไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันใหม่ด้วยเชื้อเพลิงยั่งยืน
เจ้าหน้าที่อียู ให้รายละเอียดว่า การบรรลุข้อตกลงนี้เป็นจุดเปลี่ยนและเป็นอีกก้าวที่สำคัญสำหรับการบินของยุโรป เพราะออกแบบมาเพื่อให้ยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานโดยตรง
“ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์” รองประธานกรรมการบริหารข้อตกลงสีเขียวสหภาพยุโรป แถลงว่า ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงที่สนามบินยุโรป ต้องมีสัดส่วนเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น และสายการบินต้องใช้พลังงานส่วนนี้มากขึ้นด้วย
“สหภาพยุโรปพร้อมเดินหน้าสู่การบินที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคตแล้ว” ทิมเมอร์แมนส์ กล่าว
ทั้งนี้ ถ้าอุตสาหกรรมการบินต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสและลดโลกร้อน อุตสาหกรรมการบินต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในระยะยาว ซึ่งการหาน้ำมันมาทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ด้วยการสำรวจการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนมากขึ้นได้
กฎหมายเชื้อเพลิงสีเขียวสำหรับการบินนี้ จัดทำขึ้นหลังจากนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชั้นนำของโลก เผยแพร่รายงานแนวทางการอยู่รอดของมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมุ่งมั่น รวดเร็ว และยั่งยืน เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เกณฑ์อุณหภูมิดังกล่าว อ้างอิงมาจากเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง ในฐานะเป้าหมายที่สำคัญระดับโลก เพราะการก่อมลพิษเพิ่มขึ้นหรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘จุดเปลี่ยน’ มีโอกาสทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้น
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) คาดการณ์ว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และการเดินทางทางอากาศเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มากกว่าการเดินทางทางบก ระบบราง และเรือ
สหพันธ์ยุโรปเพื่อการขนส่งและสิ่งแวดล้อม (ทีแอนด์อี) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมาจากการร่วมกลุ่มของประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปยอมรับกฎหมายเชื้อเพลิงสีเขียวสำหรับการบินฉบับใหม่ของอียู
“มัตเตโอ มิโรโล” เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายการบินของทีแอนด์อี กล่าวว่า ข้อตกลงนี้คือการยอมรับกฤษฎีกาเชื้อเพลิงสีเขียวเพื่อการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
การที่อียูเน้นให้ใช้เชื้อเพลิงสีเขียวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของอุตสาหกรรมการบิน
ทีแอนด์อี ระบุว่า เป้าหมายที่เสนอโดยอียู มีทั้งการใช้เชื้อเพลิงสังคราะห์ เช่น อี-เคโรซีน หรือน้ำมันก๊าดสังเคราะห์ ซึ่งทีแอนด์อี บอกว่า เป็นเชื้อเพลิงยั่งยืนประเภทเดียวที่สามารถปรับปริมาณการใช้งานได้อย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้เชื้อเพลิงของอุตสาหกรรมการบิน
มิโรโล กล่าวว่า “การใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนเพิ่มขึ้นเริ่มได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ แต่มีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพื่อให้แน่ใจว่า การใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะแต่ละประเทศต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินสำหรับการใช้น้ำมันก๊าดสังเคราะห์ และต้องมีการควบคุมที่เข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่า เครื่องบินไม่มีเชื้อเพลิงชีวภาพปนอยู่ในถังน้ำมัน”