ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์

ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์

พิธีราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสด็จขึ้นครองราชย์ ช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว-บริการ-ดันเศรษฐกิจภาพใหญ่โต

Key Points:

  • พระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก
  • ภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม และภาคบริการอื่นๆ เตรียมต้อนรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวทั้งในอังกฤษและทั่วโลก
  • แม้เม็ดเงินจะไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ตัวเลข “GDP” กลับไม่สูงอย่างที่คิด และอาจมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ก็ยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


นับถอยหลังอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพกันแล้ว นอกจากชาวอังกฤษจะทยอยจับจองพื้นที่เพื่อรับชมอย่างใกล้ชิด พระราชพิธีครั้งนี้ยังเป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลก ดันยอดจองโรงแรม ที่พัก ของที่ระลึกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ เองยังมีแนวโน้มกวาดรายได้จากยอดการใช้จ่ายตลอดสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลอง

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนวิเคราะห์ในแง่มุมเศรษฐกิจ-การตลาด พระราชพิธีฯ สร้างโอกาสและเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างไร เซกเมนต์ใดที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด และในระดับมหภาคแล้ว เปอร์เซ็นต์การเติบโตของ “GDP” มีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง

ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์

  • โอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ดันนักท่องเที่ยวทั่วโลกแห่ชม

หลังจากอังกฤษต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล แม้ว่าปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกมากขึ้น วิกฤติค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ผลผลิตทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่เหนือระดับก่อนโควิด-19 แต่นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นนัก พิธีราชาภิเษกในรอบ 70 ปีครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนกับ “โอกาส” ในการเพิ่มโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้ประเทศในไตรมาสล่าสุด

ข้อมูลจาก “Foodservice Equipment Journal” ระบุว่า พระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะสร้างรายได้ให้กับภาคบริการในสหราชอาณาจักรราว 2.6 พันล้านปอนด์ โดยในสุดสัปดาห์นี้ ได้มีการประกาศวันหยุดเพิ่มเติม เพื่อรองรับประชาชนทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ทยอยมุ่งหน้าเดินทางเข้าร่วมรับชมพระราชพิธีอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ “SevenRooms” แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลชื่อดังของอุตสาหกรรมบริการในต่างประเทศยังคาดการณ์ด้วยว่า สัปดาห์พระราชพิธีฯ จะมีผู้คนหลั่งใหลหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการในอุตสาหกรรมบริการมากถึง 29 ล้านคน และคาดว่า จะมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 88.51 ปอนด์ต่อวัน รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่า ความต้องการในภาคบริการทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯลฯ จะมีสัดส่วนมากกว่าเมื่อครั้ง “Platinum Jubilee” งานเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปีของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบไปทั้งสิ้น 1.5 พันล้านปอนด์

ดานิโล แมงกาโน (Danilo Mangano) กรรมการผู้จัดการ “SevenRooms” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้คนกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมพิธี แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะอยู่ในระดับที่ยังไม่สู้ดีนัก แต่ประมาณการครั้งนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่า บรรยากาศการเฉลิมฉลองในวาระพิธีราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้เอื้อให้ผู้คนรู้สึกเพลิดเพลินกับการใช้จ่ายชั่วครู่ชั่วคราวได้

ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์

  • เงินสะพัดแต่ “GDP” อาจไม่เติบโตอย่างที่คิด

ในด้านหนึ่ง กำหนดการพระราชพิธีมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมพระราชพิธีกันมากขึ้น แต่เรากลับพบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของอังกฤษอาจไม่ได้รับผลกระทบเชิงบวกมากนัก และในขณะเดียวกัน การเพิ่มวันหยุดราชการเพื่อรองรับผู้คนในช่วงสัปดาห์พระราชพิธียังทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเจอกับแรงเสียดทานอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า วันหยุดราชการที่เพิ่มเติมเข้ามาอาจทำให้ตัวเลข GDP ในเดือนพฤษภาคมลดลงราว 0.7 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่สอง 

นักเศรษฐศาสตร์จาก “ดอยซ์แบงก์” (Deutsche Bank) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ พวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากชั่วโมงการทำงานที่หายไป โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมโรงงานหรือการก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่ต้องสูญเสียรายได้ไปจากวันหยุดครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากธุรกิจที่ต้องหยุดลงชั่วคราว อาจถูกลดทอนสัดส่วนที่สูญเสียลงไป ด้วยการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปีนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจของอังกฤษประเมินว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสถานบริการรื่นเริงตอนกลางคืนที่ได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการได้ในช่วงสุดสัปดาห์ จะสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 337 ล้านปอนด์

  • ความเปลี่ยนแปลงของบทบาทราชวงศ์อังกฤษที่น่าจับตามอง

วันหยุดราชการที่เพิ่มขึ้นและภาวะจำยอมที่ต้องปิดหน้าร้านลงชั่วคราวของหลายๆ ธุรกิจ อาจทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย แต่หากเทียบเคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพระราชพิธีของราชวงศ์ในครั้งๆ ก่อนก็จะพบว่า พิธีราชาภิเษกครั้งนี้สร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต โดยจากรายงานที่บลูมเบิร์กได้รวบรวมไว้พบว่า

  • พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี หรือ “Golden Jubilee” ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งผลให้ GDP ลดลง 2.2 เปอร์เซ็นต์
  • พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี หรือ “Diamond Jubilee” ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งผลให้ GDP ลดลง 1.4 เปอร์เซ็นต์
  • พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี หรือ “Platinum Jubilee” ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.7 เปอร์เซ็นต์

โดยความเปลี่ยนแปลงที่ลดน้อยลง อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ร้านค้าปลีกที่ต้องปิดลงชั่วคราวไม่ได้ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ขนาดนั้น เพราะยังมีออนไลน์ชอปปิงเข้ามาเสริมทัพมากกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ยังมีลักษณะ “Resilience” หรือมีความยืดหยุ่น เน้นย้ำถึงการเปิดกว้างและประเด็นเรื่องความหลากหลายในอังกฤษยุคใหม่อยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญ กษัตริย์ชาลส์ยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เรื่องดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนการทำวิจัยในหัวข้อเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรและการค้าทาสด้วย 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษเผชิญกับแรงเสียดทานจากประชาชน ทั้งเรื่องสถานะ การมีอยู่ และบทบาทที่ถูกตั้งคำถามอยู่เรื่อยมา ท่าทีของกษัตริย์ชาลส์ในห้วงเวลานี้ จึงเป็นการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ต้องการสื่อสารว่าตนกำลังรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ และประชาชนเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ในศตวรรษที่ 21

“ชาลส์กำลังฟังคุณอยู่จริงๆ นี่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เขากำลังพยายามอยู่แน่ๆ ฉันคิดว่า เขาเป็นกษัตริย์ของประชาชน” แหล่งข่าวได้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กไว้

ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์

  • สถาบันฯ ในฐานะ “สัญลักษณ์” เพื่อการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

งานเฉลิมฉลอง “Platinum Jubilee” ในปีที่ผ่านมา มีผู้มาเยือนลอนดอนราว 2.6 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาลส์ครั้งนี้ก็คงดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนได้ไม่ต่างจากเมื่อครั้งพระมารดาเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์อันยาวนานของราชวงศ์เป็นสิ่งที่ต่างชาติให้ความสนใจ ทำหน้าที่คล้ายกับ “แม่เหล็ก” ที่คอยดึงดูดผู้คน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่ให้ความสนใจกับพระราชพิธีครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

โดยพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวอเมริกันมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเซกเมนต์ท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักรอย่างยิ่ง “Fortune” นิตยสารด้านธุรกิจสัญชาติอเมริกันระบุว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงพฤษภาคม อัตราการจองตั๋วเครื่องบินจากเมริกามุ่งหน้ามาที่อังกฤษมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการจัดพระราชพิธีครั้งนี้จะสูงถึง 100 ล้านปอนด์ และยังมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เพิ่มขึ้น อันส่งผลต่อสายงานการผลิตบางส่วน แต่ “Brand Finance” บริษัทให้คำปรึกษาด้านมูลค่าแบรนด์ระดับโลกได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 500 ล้านปอนด์ต่อปี มากกว่าส่วนต่างที่ประชาชนจ่ายภาษีให้กับสถาบันฯ ราว 350 ล้านปอนด์ แม้จะเป็นจำนวนที่ลดลงเมื่อเทียบเคียงกับประมาณการในปีพ.ศ. 2560 เนื่องจาก ข่าวอื้อฉาวของคนในราชวงศ์ ซึ่งนับเป็น “6 ปีแห่งหายนะ” ที่สถาบันฯ อังกฤษต้องแบ่งรับแบ่งสู้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา

กระนั้น ผู้บริหาร Brand Finance ก็ยังเชื่อว่า หลังจากนี้ สถาบันฯ จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจในประเทศ มากกว่าส่วนที่ประชาชนต้องจ่ายไปได้

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2Bloomberg 3Bloomberg 4EconomistFood Service Equipment JournalForbesFortune