‘รถอีวีจีน’สร้างความเสี่ยงค่ายรถยุโรป
อลิอันซ์ เทรด เผยแพร่รายงานเรื่อง “ความท้าทายของจีนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรป” ที่ระบุว่า รถอีวี ที่ผลิตในจีนก่อให้เกิดความเสี่ยงมากที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ในยุโรป และอาจทำให้สูญเสียผลกำไรมากถึง 7,000 ล้านยูโร (7,700 ล้านดอลลาร์) ต่อปีภายในปี 2573
นอกเสียจากว่า ผู้กำหนดนโยบายจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น กำหนดอัตราภาษีตอบโต้กับรถยนต์นำเข้าจากจีน, พัฒนาวัสดุแบตเตอรีและเทคโนโลยี EV ให้มากขึ้น และอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป
ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปเผชิญกับภัยคุกคาม 2 ประการ ประการแรกมาจากยอดขายรถยนต์ของตนเองที่ลดลงในจีน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในท้องถิ่นมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และประการที่สอง มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าของจีน ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตของจีนหรือของชาติตะวันตก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกให้คำมั่นว่าจะกลับมารุกตลาดรถยนต์ในจีนด้วยรถยนต์ EV จำนวนมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีแรงกดดันมากขึ้นในการปรับลดราคาลง
อลิอันซ์ เทรด ระบุว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนอาจทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ต้องสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจมากกว่า 24,000 ล้านยูโรในปี 2573 หรือคิดเป็น 0.15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอียู
นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า เศรษฐกิจที่พึ่งพารถยนต์ของเยอรมนี, สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็กนั้น อาจเผชิญผลกระทบมากกว่าที่ประมาณ 0.3-0.4% ของจีดีพี
รายงานของอลิอันซ์ เทรด ได้รับการเผยแพร่หลังจากเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา การ์ทเนอร์ ได้ทำการสำรวจและพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์รถไฟฟ้า จะเจอความยุ่งยากมากขึ้นในปีนี้ พร้อมทั้งระบุว่าปี 2569 ยอดขายรถไฟฟ้าทั่วโลกในสัดส่วนกว่า 50% จะมาจากแบรนด์จีน
"เปโดร ปาเชโก" รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ระบุว่า ปีนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างมากในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบให้เดินหน้า เนื่องจากปัจจุบัน ราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในยุโรปทำให้ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (บีอีวี) มีความน่าสนใจลดลง
ประกอบกับบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย กำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวี และช่วงต้นปี 2566 นี้จีนเริ่มลดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งยังวางโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จทั่วโลกที่พบว่า ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องราคาของวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ลิเทียม และนิกเกิล ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถอีวีสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนแบบโออีเอ็ม ลดช่องว่างด้านราคากับรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปได้ยากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายรถบีอีวี อาจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่ามาก หรือหยุดชะงักในบางตลาด ทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถ รถไฟฟ้าใช้เวลานานขึ้น กว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
“ไมค์ แรมซี” รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ให้ความเห็นว่า การ์ทเนอร์ คาดว่าปัญหาการขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังดำเนินต่อไปตลอดในปีนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่ลามไปสู่การผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตเหล่านี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหลักสำหรับแบตเตอรี่ในรถบีอีวี ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น"
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั่วโลก มากกว่า 50% จะเป็นแบรนด์จากประเทศจีน โดยมีบริษัทจีนมากกว่า 15 แห่ง ที่จำหน่ายรถอีวี และหลายรุ่นมีขนาดเล็กกว่าและมีราคาถูกกว่าคู่แข่งต่างชาติอย่างมาก
ขณะที่แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ อย่างเทสลา, โฟล์คสวาเกนและ เจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม) กำลังจำหน่ายรถอีวีจำนวนมากในประเทศจีน และยังพบว่าเติบโตรวดเร็วกว่าบริษัทจากจีนอย่างมาก
จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก บริษัทจีนหลายแห่งจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่สามารถใช้ประโยชน์ จากการเติบโตในตลาด ด้วยการเข้าถึงแร่สำคัญ ๆ และกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีนได้