‘ลักเซมเบิร์ก’ รวยที่สุดในโลก แต่มีประชากรเกือบครึ่งเป็นต่างชาติ

‘ลักเซมเบิร์ก’ รวยที่สุดในโลก แต่มีประชากรเกือบครึ่งเป็นต่างชาติ

“ลักเซมเบิร์ก” ประเทศที่มี “GDP ต่อหัว” สูงที่สุดในโลก กำลังเจอความท้าทายด้านโครงสร้างประชากร เมื่อมีชาวต่างชาติในประเทศเกือบเท่าคนในชาติ

สัดส่วนประชากรใน “ลักเซมเบิร์ก” ระหว่างคนในชาติและชาวต่างชาติกำลังจะมีจำนวนเท่ากัน จากการสำรวจประชากรภายในประเทศของสำนักสถิติของรัฐบาลลักเซมเบิร์ก (STATEC) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ณ เดือนพ.ย. 2564 มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศมากกว่า 304,000 คน ซึ่งคิดเป็น 47% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ

 

  • ผู้อพยพทำประชากรพุ่งสูง

ลักเซมเบิร์กจัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรในทุก 10 ปี โดยครั้งล่าสุดทำในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์และระบบไปรษณีย์ พบว่าในปี 2564 มีประชากรทั้งสิ้น 644,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนมากกว่า 25% นับเป็นจำนวนประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่ที่เคยสำรวจมา เป็นผลจากจำนวน “ผู้อพยพ” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ช่วงปี 2554-2564 จำนวนประชากรต่างชาติในลักเซมเบิร์กเพิ่มขึ้นถึง 38% ขณะที่ประชากรสัญชาติลักเซมเบิร์กเองเพิ่มขึ้นเพียง 16.5% เท่านั้น 

จากประชากรทั้งสิ้น 644,000 คน มีเกือบ 340,000 คนที่มีสัญชาติลักเซมเบิร์ก คิดเป็น 53% ของประชากรทั้งหมด 

ส่วนชาวต่างชาติในลักเซมเบิร์กที่มีอยู่ราว 3 แสนเศษประกอบไปด้วยประชากรจาก 180 สัญชาติ ที่พบมากที่สุดคือ ชาวโปรตุเกสที่ 14.5% ตามมาด้วยชาวฝรั่งเศสที่ 7.6% ชาวอิตาลีที่ 3.7% ชาวเบลเยียม ที่ 3.1% และเยอรมันที่ 2.0%

นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังเป็นประเทศที่มีชาวอังกฤษและชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในบรรดาประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ด้วยจำนวน 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ ในขณะที่ชาวบราซิลและสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 0.4% และ 0.3% ของประชากร

  • ตลาดงานที่น่าสนใจ

จากการสำรวจสำมะโนประชากรในครั้งนี้ ทำให้ลักเซมเบิร์กกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรรวดเร็วที่สุดในทวีปยุโรป และขยายตัวมากกว่า 15 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสหภาพยุโรป โดยข้อมูลของ STATEC ระบุว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2564 สหภาพยุโรปมีประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 1.7% เท่านั้น

แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป แต่คนทั่วไปรู้จักลักเซมเบิร์กในฐานะเมืองหลวงทางการเงิน ประกอบกับตลาดงานที่คึกคัก เงินเดือนสูง และมาตรฐานการครองชีพไม่ได้สูงมาก นอกจากนี้ลักเซมเบิร์กมีแรงงานในประเทศเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ทำให้สามารถดึงดูดผู้อพยพจากที่อื่นในยุโรปและทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลของ STATEC ยังระบุอีกว่า ในปี 2564 มีผู้เดินทางเข้าประเทศลักเซมเบิร์กมากกว่าจำนวนคนเดินทางออกนอกประเทศถึง 9,000 คน เพิ่มขึ้นสามเท่านับตั้งแต่ปี 2533 อีกทั้งยังพบว่า อายุเฉลี่ยของชาวลักเซมเบิร์กอยู่ที่ 39 ปี เพิ่มขึ้นหนึ่งปีจากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งก่อนเท่านั้น และเป็นอายุเฉลี่ยที่ต่ำสุดในยุโรป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชาวต่างชาติย้ายมาอยู่ลักเซมเบิร์กจำนวนมาก แต่กลับพบแนวโน้ม “การย้ายออก” ของชาวลักเซมเบิร์กเอง โดยในปี 2565 มีชาวลักเซมเบิร์กราว 3,200 คน เดินทางออกจากประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่เคยลงทะเบียนนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2510 โดยข้อมูลจาก Fondation IDEA คลังสมองที่ทำงานเกี่ยวกับด้านนโยบายการเมือง ระบุถึงสาเหตุหลักที่คนย้ายออกจากลักเซมเบิร์ก เพราะ “ค่าที่อยู่อาศัย” ที่มีราคาสูงบีบให้พวกเขาต้องมองหาประเทศที่มีค่าพักที่ถูกกว่า

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะพบเห็นรถยนต์ที่มีทะเบียนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ขับเข้ามาทำงานที่ลักเซมเบิร์ก จนช่วงเวลาตอนเช้าและเย็นในเมืองหลวงมีรถติดหนาแน่น แตกต่างจากวันหยุดที่ปริมาณรถจะเบาบางกว่า เพราะมีแต่ชาวลักเซมเบิร์กและนักท่องเที่ยวเท่านั้น

สำหรับ ลักเซมเบิร์กถือเป็นประเทศที่มี “GDP ต่อหัว” สูงที่สุดในโลก ที่128,820 ดอลลาร์ จากข้อมูลของ IMF ปี 2566 เดิมทีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ แต่ในปัจจุบันการให้บริการทางด้านการเงินและการธนาคารเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลักเซมเบิร์กขึ้นแท่น เมืองหลวงทางการเงิน ก็ด้วยนโยบายปกป้องความลับและให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจากต่างชาติสามารถตั้งบริษัทในลักเซมเบิร์ก และโอนเงินกลับไปยังประเทศตัวเองได้ในอัตราภาษีที่ต่ำ จนลักเซมเบิร์กถูกขนานนามว่าเป็น ดินแดนภาษีต่ำ หรือ Tax Heaven นั่นเอง

 

ที่มา: Luxembourg TimesVisual Capitalist