ชาวตุรกีก็ลุ้น เลือกตั้งประธานาธิบดี อาจโค่นรัฐบาลเผด็จการ 20 ปีได้
ชาวตุรกีทั้งประเทศ รอลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่าจะโค่นรัฐบาล "เรเจป เตย์ยิป เออร์ดวน" ที่ครองอำนาจมานานกว่า 20 ปีได้หรือไม่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีในวันนี้ ถือเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ 100 ปี ของตุรกียุคใหม่ ซึ่งอาจโค่นตำแหน่งประธานาธิบดีของ “เรเจป เตย์ยิป เออร์ดวน” ที่ครองอำนาจมานาน 20 ปี และยุติเส้นทางการบริหารประเทศแบบเผด็จการของรัฐบาลเก่า
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้เลือกรัฐสภาใหม่ จากการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่าง พรรคเอเค ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบอิสลามของเออร์ดวน และพรรคชาตินิยม (เอ็มเอชพี) และพรรคอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติของเคมาล คิลิกดาโรกลู ที่รวมพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ซึ่งรวมพรรคสาธารณรัฐประชาชนของเขาด้วย
การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช้การตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศสมาชิกนาโต ที่มีประชากรราว 85 คน เท่านั้น แต่เป็นการตัดสินใจว่าจะเลือกรัฐบาลที่บริหารประเทศแบบใด ซึ่งเศรษฐกิจตุรกีกำลังดำเนินอยู่ท่ามกลางวิกฤติค่าครองชีพรุนแรง และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่คาดเดาไม่ได้
นอกจากนี้ ผลโพลแสดงให้เห็นว่า คู่แข่งที่ท้าทายอำนาจเออร์ดวน คือ คิลิกดาโรกลู ผู้นำพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน มีคะแนนนำเล็กน้อย แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวมคะแนนจากการเลือกตั้งไม่ถึง 50% จะมีการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 28 พ.ค. นี้
เคมาล คิลิกดาโรกลู
ทั้งนี้ คูหาเลือกตั้งเปิด 8.00 น. และปิดเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นตุรกี โดยภายใต้กฎหมายตุรกี ไม่อนุญาตให้รายงานผลการเลือกตั้งจนกว่าจะถึงเวลา 21.00 น. ในช่วงค่ำของวันอาทิตย์นี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งรอบสองอีกหรือไม่
ประชาชนบางส่วนในดียาร์บากีร์ เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของชาวเคิร์ดที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อเดือน ก.พ. เผยว่า ตัดสินใจเลือกพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ
นูรี แกน วัย 26 ปี ชาวเคิร์กในเมืองดียาร์บากีร์ กล่าวว่า “หลังเลือกตั้ง ประเทศจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง ฉันจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง”
ขณะที่ฮายาติ อาร์สลัน วัย 51 ปีตัดสินใจเลือกเออร์ดวน โดยมีความคิดเห็นว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี แต่ยังเชื่อมั่นในเออร์ดวนว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ชื่อเสียงของประเทศถึงในจุดที่ดีมากในรัฐบาลเออร์ดวน และฉันต้องการให้เป็นแบบนี้ต่อไป”
ทั้งนี้ ชาวเคิร์ดที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งคิดเป็น 15-20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญ ต่อกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ ที่ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ด้วยตนเอง
เรเจป เตย์ยิป เออร์ดวน
พรรคประชาธิปไตยประชาชนชาวเคิร์ด (เอชดีพี) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรฝ่ายค้านเท่านั้น แต่เป็นพรรคต่อต้านเออร์ดวนอย่างดุเดือด หลังรัฐบาลเออร์ดวนปราบปรามสมาชิกพรรคนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
คิลิกดาโรกลู อดีตข้าราชการพลเรือนวัย 74 ปี ที่อยู่พรรคฝ่ายค้าน สัญญาว่า ถ้าเขาชนะจะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจดั้งเดิมของรัฐบาลก่อนและจะพยายามฟื้นฟูประเทศสู่ระบบการปกครองแบบรัฐสภา จากเดิมเป็นระบบประธานาธิบดีของเออร์ดวนที่ผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2560 ทั้งยังสัญญาว่า จะปรับปรุงความเป็นอิสระของตุลาการ ที่นักวิจารณ์บอกว่า เออร์ดวนใช้ปราบปรามฝ่ายค้าน
ในการบริหารของเออร์ดวน เขาเข้าควบคุมสถาบันส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเข้มงวด และคอยกีดกันกลุ่มเสรีนิยมและนักวิจารณ์ต่าง ๆ จนรายงานโลกปี 2565 ของฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช ระบุว่า รัฐบาลเออร์ดวนฉุดสิทธิมนุษยชนชองตุรกีถดถอยเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม หากคิลิกดาโรกลูชนะ อาจต้องเผชิญความท้าทายมากมายในการรักษาพันธมิตรฝ่ายค้านให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาตินิยม, ผู้นับถือศาสนาอิสลาม, กลุ่มโลกิยนิยมและกลุ่มเสรีนิยม