'ฟื้นเศรษฐกิจ'เกาหลีใต้ พิสูจน์ภาวะผู้นำ'ยุน ซอกยอล'
'ฟื้นเศรษฐกิจ'เกาหลีใต้ พิสูจน์ภาวะผู้นำ'ยุน ซอกยอล' ซึ่งหลังจากดำรงตำแหน่งมา 1 ปี คะแนนนิยมของประธานาธิบดียุน ซอกยอลอยู่ที่ 33% ถือเป็นคะแนนนิยมต่ำที่สุดอันดับ2 ในทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้
เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดียุน ซอกยอลเริ่มบริหารประเทศ เขาประกาศว่า รัฐบาลจะเลิกใช้นโยบายแจกเงินแบบประชานิยม พร้อมทั้งอ้างว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินไปมากแล้วและถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของเขาควรดำเนินนโยบายตามหลักการแข่งขันทางการตลาด
แต่บรรดานักวิจารณ์มีความเห็นต่อนโยบายของยุนว่า วิสัยทัศน์ที่ช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ต้องมาจากมาตรการขึ้นค่าแรงและลดชั่วโมงการทำงานที่ยากลำบากของแรงงานทั่วไปลง โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ได้ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่อย่างกลุ่มแชโบลเกาหลีใต้
“ซุง วอนซอน” อาจารย์ประจำภาควิชาธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยโลโยลา-แมรีเมาท์ สหรัฐ มีความเห็นว่า “กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มแชโบล แต่คือธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด และเมื่อเงินเฟ้อพุ่งสูงประกอบกับเศรษฐชะลอตัวธุรกิจ SMEs เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ธุรกิจกลุ่มนี้ต้องได้รับการสนับสนุนด้วยการค้ำประกันเงินกู้และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ”
ด้าน“ยาง จุนซอก” อาจารย์ประจำวิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคาทอลิกในกรุงโซล บอกว่า“ประชาชนเกาหลีใต้รู้สึกว่ารัฐบาลควรทำตัวเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก ควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปตลาด แต่ต้องปกป้องประชาชนให้มากกว่านี้ ซึ่งหลักการทางตลาดบางประการอาจนำมาใช้ไม่ได้” ยาง กล่าว และว่าธุรกิจขนาดเล็กในเกาหลีใต้มีแนวโน้มสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองท้องถิ่น และอาจสร้างความท้าทายให้กับวิสัยทัศน์นโยบายทางเศรษฐกิจของยุน
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ส่งสัญญาณว่า ประเทศกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังเศรษฐกิจหดตัว 0.4% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และขยายตัวเพียง 0.3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี 2563 ส่วนดัชนีผู้บริโภคตกต่ำในรอบ 14 เดือน เมื่อเดือน เม.ย.
มีการคาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ระยะยาวว่าอาจเติบโตระดับปานกลาง โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจขยายตัว 1.6% ในปีนี้ สูงกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ไว้ 1.5%
แต่ตอนนี้ เกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การบริโภคในประเทศซบเซา และพึ่งพาการส่งออกอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงมากเกินไป เช่น เซมิคอนดักเตอร์
ขณะที่ยุน บริหารประเทศตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้มาตลอด เพื่อลดรายจ่ายการด้านการคลัง แม้เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลยุนยังคงไม่อนุมัติร่างกฎหมายเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอ้างว่า มีความกังวลด้านหนี้สินรัฐบาล ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 49.6% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 46.9%
ปธน.ยุน ยังใช้อำนาจยับยั้งเพื่อยุติความเคลื่อนไหวที่ต้องการให้รัฐบาลประกันราคาข้าว โดยการซื้ออุปทานส่วนเกินจากเกษตรกร
กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของเกาหลีใต้ ระบุว่า "รัฐบาลของเรา ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาความยั่งยืนทางการเงิน เมื่อการคลังขาดดุลมานานและหนี้สินประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นเพื่อยุติปัญหานี้ เราจะป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายมากไป ด้วยการเลิกให้เงินอุดหนุนภาคธุรกิจ และเงินอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส เราจะนำนวัตกรรมาใช้กับระบบการเงิน โดยการออกกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ทางการคลัง และบริหารจัดการการคลังให้แข็งแกร่งมากกว่านี้” กระทรวงฯ ระบุ
อีกหลายเดือนข้างหน้า จะเป็นบททดสอบการแก้ปัญหาของปธน.ยุน โดยเฉพาะในประเด็นลดการใช้จ่ายของรัฐบาล และยิ่งประธานาธิบดีมีคะแนนนิยมต่ำสุด อาจสั่นคลอนการทำหน้าที่ผู้นำของปธน.ยุน
หลังบริหารประเทศมา 1 ปี คะแนนนิยมของยุนอยู่ที่ 33% ถือเป็นคะแนนต่ำที่สุดอันดับที่ 2 ในทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นรองอดีตประธานาธิบดีโรห์ มู-ฮุน ที่มีคะแนนความนิยมเพียง 24% ในปี 2547 หลังบริหารประเทศได้ 1 ปีเช่นกัน
ส่วน “มุน แจ-อิน” ประธานาธิบดีคนก่อนหน้ามีคะแนนนิยม 78% หลังบริหารประเทศผ่านไป 12 เดือน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดียุนยังต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในปีหน้าแต่เขาอาจจะลดแรงกดดันทางการเมืองลงได้ด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ
“ดาร์เรน ออว์” นักวิเคราะห์ชาวเกาหลีใต้ จากฟิตช์ เรตติง กล่าวว่า “ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น แต่เราไม่แปลกใจ ถ้ารัฐบาลจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ไม่ได้”
นโยบายที่สำคัญอันดับแรกของยุนคือ การยกเลิกกฎหมายจำกัดชั่วโมงการทำงานของแรงงาน เดิมอดีตปธน.มุน จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี กำหนดชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 52 ชม./สัปดาห์ เพื่อช่วยให้แรงงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ จ้างพนักงานเพิ่มแทนที่จะให้พนักงานหลักทำงานเกินเวลา
แต่รัฐบาลยุน เปลี่ยนกลับไปใช้กฎหมายเดิม ที่อนุญาตให้แรงงานบางกลุ่มสามารถทำงานมากกว่า 69 ชม./สัปดาห์ได้ หลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้รับผลตอบรับเชิงลบจากประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เป็นเอกลักษณ์ของยุน ในฐานะประธานาธิบดีจนถึงขณะนี้คือนโยบายต่างประเทศ โดยยุนและ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้จัดประชุมสุดยอดทวิภาคีในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี เมื่อ2-3 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้คะแนนนิยมของยุนในเดือน เม.ย. พุ่งขึ้น แต่ถึงแม้เรื่องนี้จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ยุน แต่ยังไม่มากพอที่จะช่วยบรรเทาปัญหาในประเทศได้