เจรจาเพดานหนี้สหรัฐสะเทือนการเมืองโลก

เจรจาเพดานหนี้สหรัฐสะเทือนการเมืองโลก

ทำเนียบขาวและสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสกำลังเผชิญหน้ากันเรื่องเพดานหนี้สหรัฐว่ารัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากน้อยแค่ไหน รัฐมนตรีคลังเตือน หากตกลงกันไม่ได้ สหรัฐต้องเผชิญกับ “พายุทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

เมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เปิดทำเนียบขาวคุยรอบสองกับเควิด แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน หลังการคุยกันเมื่อสัปดาห์ก่อนไม่ได้คำตอบ การเจรจารอบนี้ก็ดูเหมือนไม่คืบหน้า

เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนรายงาน นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังเตือนในวันที่ผู้นำฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติหารือกันว่า เวลาใกล้หมดลงทุกขณะ ถ้าไม่เพิ่มเพดานรัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเกิดความเสียหายตามมามหาศาล พนักงานรัฐบาลกลางอาจโดนเลิกจ้าง ตลาดหุ้นโลกระเนระนาด เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

เพดานหนี้ คือการจำกัดปริมาณเงินที่รัฐบาลสหรัฐสามารถกู้ยืมมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น ด้านความมั่นคงทางสังคม ดูแลสุขภาพ และการทหารแต่ละปีรัฐบาลมีรายได้จากภาษีและอากรอื่นๆ เช่น ภาษีศุลกากร แต่ใช้จ่ายมากกว่าที่หาได้ ทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณปีละ 4 แสนล้านดอลลาร์ - 3 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งการขาดดุลในแต่ละปีสุดท้ายกลายเป็นหนี้รวมของประเทศ

เพื่อกู้ยืมเงิน กระทรวงการคลังสหรัฐ จะออกตราสาร เช่น พันธบัตรรัฐบาลที่ค่อยๆ จ่ายคืนในภายหลังพร้อมอัตราดอกเบี้ย ครั้นรัฐบาลสหรัฐชนเพดาน กระทรวงการคลังไม่สามารถออกตราสารได้อีก ไม่มีเงินไหลเข้ารัฐบาลกลาง

สภาคองเกรสมีหน้าที่กำหนดเพดานการกู้ยืม ปัจจุบันอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1960 สหรัฐเพิ่มเพดานหนี้มาแล้ว 78 ครั้ง ทั้งรัฐบาลประธานาธิบดีเดโมแครตและรีพับลิกัน หลายครั้งที่เพดานถูกระงับไปครู่หนึ่งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวงเงินที่สูงขึ้น ในรูปของการเพิ่มเพดานหนี้ย้อนหลัง

เกิดอะไรขึ้นถ้าสหรัฐผิดนัดชำระหนี้

สหรัฐไม่เคยทำสิ่งนี้มาก่อน และไม่แน่ใจว่าจะเกิดหรือไม่แต่ไม่น่าจะใช่เรื่องดี ก่อนหน้านี้เยลเลนเคยทำหนังสือถึงสภาคองเกรส ระบุ

“การไม่ปฏิบัติตามความรับผิดชอบของรัฐบาลจะสร้างความเสียหายชนิดที่แก้ไขไม่ได้ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันทุกคน และเสถียรภาพของการเงินโลก” ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนจะเสื่อมศรัทธาในเงินดอลลาร์ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว การเลิกจ้างเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลกลางไม่มีเครื่องมือในการให้บริการต่อ อัตราดอกเบี้ยจำนองอาจพุ่งสูงทำลายตลาดที่อยู่อาศัย

ทำไมหนี้สหรัฐสูงมาก

หนี้สหรัฐเพิ่มเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายมากหรือเมื่อรายได้ลดลง ตลอดประวัติศาสตร์สหรัฐต้องมีหนี้อยู่อย่างน้อยๆ ก็จำนวนหนึ่ง แต่หนี้เริ่มเพิ่มสูงในทศวรรษ 80 หลังประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ลดภาษีครั้งใหญ่ เมื่อไม่มีรายได้จากภาษีมากพอรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมมาใช้จ่าย

ระหว่างทศวรรษ 90 การสิ้นสุดของสงครามเย็นเปิดให้รัฐบาลลดงบประมาณกลาโหม เศรษฐกิจเติบโตทำให้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นเมื่อต้นทศวรรษ 2000 ฟองสบู่ภาคเทคโนโลยีระเบิดเศรษฐกิจถดถอย ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ลดภาษีสองครั้งในปี 2001 และ 2003 จากนั้นสหรัฐเข้าไปทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากถึงเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดช่วงสงคราม

ตอนเศรษฐกิจเริ่มถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 รัฐบาลใช้เงินมหาศาลอุ้มธนาคารและเพิ่มการบริการทางสังคม เมื่ออัตราการว่างงานทะลุ 10% ครั้นอัตราการว่างงานกลับมาสู่ระดับก่อนถดถอยในปี 2017 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กลับลดภาษีครั้งใหญ่ ช่วงที่เขาเป็นผู้นำ หนี้สหรัฐเพิ่มขึ้น 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ 

ต่อมาโควิด-19 ระบาด รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายระลอกรวม 5 ล้านล้านดอลลาร์

รัฐบาลใช้จ่ายอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่สุดคืองานที่รัฐบาลต้องทำ เช่น ความมั่นคงทางสังคม โครงการเมดิกเอดและเมดิแคร์ รวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณประจำปี การใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นการใช้จ่ายรายปีที่มากที่สุด 12% ของงบประมาณ

การใช้จ่ายก้อนใหญ่อื่นๆ เช่น การศึกษา ฝึกอบรมการทำงาน บริการและผลประโยชน์สำหรับทหารผ่านศึก

ทำไมคองเกรสไม่เพิ่มเพดานหนี้

วันที่ 26 เม.ย. ส.ส.พรรครีพับลิกันผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ต้องลดการใช้จ่ายลง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดสิบปี ด้วยเหตุนี้พรรคเดโมแครตไม่ยอมเจรจา ส.ส.หลายคนรวมถึงอเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ คอร์เตส ตอบโต้ว่า รีพับลิกันควรนำเรื่องนี้ไปคุยในช่วงอภิปรายงบประมาณ ไม่ใช่เพดานหนี้

กระนั้น ดูเหมือนว่าพรรครีพับลิกันใช้กรอบเวลาที่งวดเข้ามาทุกขณะกดดันเดโมแครตให้เห็นชอบตัดงบประมาณ พวกเขาเคยทำสำเร็จแล้วในปี 2554 ตอนที่เดโมแครตยอมให้ก่อนรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ในอีก 72 ชั่วโมงข้างหน้า ส่วนรอบนี้ไม่มีฝ่ายใดขยับซึ่งทางตันเช่นนี้อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าใกล้หายนะ

“จีน” ส่อรับอานิสงส์

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เจ้าหน้าที่อาวุโส 3 คนในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แก่ คือ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาว่า ความล้มเหลวจากหาข้อตกลงขยายเพดานหนี้ จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปีหน้า ซึ่งอาจกลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าง “จีน”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 3 คน กล่าวกับคณะกรรมการงบประมาณรายจ่ายเมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) ว่า แต่ละกระทรวงของสหรัฐ จะมีขีดความสามารถการแข่งขันลดลงในการรับมืออิทธิพลของจีนและกิจกรรมที่มุ่งร้ายต่อสหรัฐ

ทั้งนี้ ความเห็นของ 3 รัฐมนตรีสอดคล้องกับคำเตือนของบรรดาสมาชิกคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีอำนาจในการร่างงบประมาณประจำปี โดยความขัดแย้งในสภาคองเกรสอาจส่งผลกระทบต่อสหรัฐหลายด้านด้วยกัน

งบฯ กลาโหมถูกแช่แข็ง

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระบุว่า การเบิกงบประมาณไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับปีงบประมาณใหม่ที่เริ่มต้นวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะถือเป็นการ “แช่แข็ง” งบฯ กระทรวงกลาโหมที่เตรียมใช้เริ่มโครงการใหม่ ๆ หรือเพิ่มกำลังผลิตอาวุธ พาหนะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย (Virginia) อีกทั้งยังทำให้ความสามารถการผลิตยุทโธปกรณ์สำคัญให้ประเทศและเหล่าพันธมิตร ล่าช้าออกไปอีก

นอกจากนี้ ออสติน ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมจะเสริมเขี้ยวเล็บให้ไต้หวันด้วยคลังแสงอาวุธที่มีอยู่ จึงจำเป็นต้องมีงบประมาณเพียงพอ ตามพันธกรณีที่มีมายาวนานระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ในการรักษาเสถียรภาพช่องแคบไต้หวัน

บั่นทอนความน่าเชื่อถือในเวทีโลก

นอกจากนี้ สมาชิกบางส่วนในคณะกรรมาธิการงบประมาณสหรัฐ ยังเตือนว่า จะเกิดภัยคุกคามจากการที่สหรัฐผิดนัดชำระหนี้โดยทันที หากสภาคองเกรสและประธานาธิบดีไบเดน ไม่สามารถตกลงกันเรื่องขยายเพดานหนี้ได้

คริส คูนส์ วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเดลาแวร์ พรรคเดโมแครตแสดงความเห็นว่า สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กำลังจับตาการอนุมัติขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ และหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ จีนอาจตราหน้าสหรัฐได้ว่าเป็น “ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ด่างพร้อยและล้มเหลว”

กระทบส่งออกสินค้าเทคโนโลยี

เรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงสหรัฐ กล่าวว่า ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณสะดุดในปัจจุบัน อาจทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของกระทรวงพาณิชย์ มีจำนวนลูกจ้างลดน้อยลงในการตรวจสอบสินค้าเทคโนโลยีที่จะส่งออกไปประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายสหรัฐ

“เราจะไม่สามารถทำตามหน้าที่เราได้ทุกอย่าง และสุดท้าย เทคโนโลยีสหรัฐจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้มุ่งร้ายต่อสหรัฐและจีน” เรมอนโดเตือน

สะเทือนการทูตสหรัฐ

ด้าน บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า จีนได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตถาวรไปประจำสำนักงานด้านการทูตของจีนแต่ละแห่งจากทั้งหมดราว 180 แห่งทั่วโลก ขณะที่สถานทูตสหรัฐหลายแห่งจากทั้งหมด 173 แห่งนั้น มีเพียงเอกอัครราชทูตที่มีวาระชั่วคราว

ด้วยเหตุนี้ บลิงเคนจึงเรียกร้องวุฒิสภาสหรัฐเร่งเห็นชอบรายชื่อนักการทูตที่ประธานาธิบดีเสนอโดยเร็วและอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายนักการทูตเหล่านี้ เพื่อเพิ่มบทบาทสหรัฐในเวทีโลก

ด้าน ลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนา พรรครีพับลิกัน มองว่า รัฐบาลไบเดนยังไม่เอาจริงเอาจังมากพอในการต่อกรกับจีน เห็นได้จากการที่จีนสามารถแผ่อิทธิพลไปยังทวีปแอฟริกา รวมไปถึงซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและยุโรป

“ไบเดน” เลื่อนเยือนแปซิฟิก

เมื่อยังตกลงกันไม่ได้ ไบเดนจึงยกเลิกการเดินทางเยือนปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียในสัปดาห์หน้า ถือเป็นความอับอายระดับนานาชาติที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สังเกตเห็นได้

ทั้งนี้ ไบเดนมีกำหนดออกเดินทางในวันพุธ (17 พ.ค.) เพื่อไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี7 ที่ญี่ปุ่น แต่ต้องรีบเดินทางกลับก่อนกำหนดเนื่องจากวิกฤติยังไม่มีแววคลี่คลาย พรรครีพับลิกันพยายามให้ลดการใช้จ่ายขนานใหญ่แลกกับให้อำนาจเพิ่มเพดานหนี้ให้รัฐบาล

การตัดสินใจของไบเดนสะท้อนว่าหากมีเขาอยู่ด้วยจะช่วยแก้ไขวิกฤติได้ดีกว่า การเจรจาระหว่างไบเดนกับแมคคาร์ธีเมื่อวันอังคารคืบหน้าไปเพียงเล็กน้ัอยเท่านั้น หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย

โลกกำลังจับตา

ความเสี่ยงทางการเมืองที่ไบเดนออกนอกประเทศสองสัปดาห์ก่อนเกิดวิกฤติการเงินมีสูงมาก ถ้าการเจรจาล่มลงใน 2-3 วันข้างหน้า รีพับลิกันจะกล่าวหาว่าไบเดนสนใจคนต่างชาติมากกว่าชาวอเมริกัน

แต่ถ้าไม่ไปถือเป็นหายนะต่อนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไบเดนต้องการใช้การประชุมผู้นำจี7 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมปกครองในระบอบประชาธิปไตยตอกย้ำความสนับสนุนของโลกต่อยูเครน ก่อนการรุกรบต่อต้านรัสเซียในฤดูใบไม้ผลิ

เหล่านักการทูตในเอเชียให้ความสำคัญกับการที่ประธานาธิบดีสหรัฐเดินทางมาด้วยตนเอง ว่าเป็นการสนับสนุนคำพูดของรัฐบาลวอชิงตันในฐานะมหาอำนาจหลักในภูมิภาค ดังนั้นแม้ไบเดนมาญี่ปุ่นเพียงไม่นานนับว่าน่ายินดี แต่การหั่นกำหนดการลงจะสร้างความเสียหายต่อเกียรติภูมิสหรัฐ และเพิ่มความกังวลว่าการเมืองภายในที่ไร้เสถียรภาพจะบั่นทอนอำนาจบนเวทีโลกของสหรัฐ