หนังเล่าโลก: Casablanca 'การเมืองกับรักสามเส้า'
เมื่อเอ่ยชื่อภาพยนตร์คลาสสิกของโลก Casablanca ถือเป็นหนึ่งในนั้น และในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ค่าย Warner Bros. การไปชมภาพยนตร์ในความทรงจำเรื่องนี้จึงเหมาะสมที่สุด
Casablanca ภาพยนตร์ปี 1942 ผลงานการกำกับของ ไมเคิล เคอร์ติซ บอกเล่าเรื่องราวของริค (นำแสดงโดย ฮัมฟรีย์ โบการ์ด) ชายอเมริกันเจ้าของไนท์คลับโด่งดังที่สุดในคาซาบลังกาได้ครอบครองเอกสารผ่านแดนจำนวนสองใบ เอกสารนี้สำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางจากยุโรปไปสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นเหตุฆาตกรรมทหารนาซีเพื่อแย่งชิงเอกสารดังกล่าว ผู้ก่อเหตุนำมาฝากไว้กับริค มีคนพยายามติดต่อขอซื้อในราคาสูงแต่ริคไม่เคยขายให้ใคร จนกระทั่ง ‘อิลซา ลันด์’ (นำแสดงโดย อิงกริด เบิร์ดแมน) และสามีของเธอ ‘ลัซโล’ (พอล เฮนรีด) ผู้นำขบวนการต่อสู้ใต้ดินมาถึงคาซาบลังกาเพื่อหาทางหลบหนีนาซีไปสหรัฐ
อิลซาไม่ใช่ใครอื่น เธอคือ “โจทย์เก่า” ผู้ทำให้ริค อดีตนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพต้องกลายเป็นคนชิงชังโลกถึงขนาดต้องหนีมาอยู่คาซาบลังกา ซึ่งการมาของอิลซาเปิดโอกาสให้เขาและเธอได้เคลียร์ปัญหาคาใจในอดีตและตัดสินอนาคตร่วมกัน โดยมีโจทย์อยู่ว่า พวกเขาสามคนคือ อิลซา, ลัซโล และริค ต้องไปอเมริกา โดยลัซโลต้องหนีไปด้วยเหตุผลด้านอุดมการณ์ ส่วนอิลซาและริคไปด้วยเหตุผลของหัวใจ แต่หนังสือผ่านแดนมีเพียงสองใบ และคนที่ตัดสินใจว่าผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองคือริคแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เขาต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากเพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวแต่ส่งผลต่อการขบวนการต่อต้านนาซี
เมื่อพูดถึงอุดมการณ์ต่อต้านนาซี ผู้ที่เคยชม Casablanca ต้องนึกถึงฉากที่ทหารนาซีกำลังสำเริงสำราญในไนท์คลับของริค บรรเลงเปียโนเพลง ‘Watch on the Rhine’ แต่ริคพยักหน้าให้นักดนตรีของร้าน บรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise ตอบโต้ มีลัซโลเป็นหัวขบวนนำร้อง แล้วทุกคนในร้านร่วมกันลุกขึ้นยืนร้องเพลงชาติฝรั่งเศสสยบเพลงนาซี ชาวธรรมศาสตร์ดูฉากนี้แล้วน่าจะขนลุกเป็นพิเศษ นึกถึงเพลงมาร์ช มธก.
"อันธรรมศาสตร์สืบนามความสามัคคี ร่วมรักในสิทธิ-ศรี เสรีชัย" ดูหนังฟังเพลงแล้วชวนให้คิดต่อว่าถ้าประชาชนรวมพลังกันต่อต้านผู้กดขี่ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
ข้อน่าสังเกตคือแม้หนังเรื่องนี้ชื่อ Casablanca ซึ่งเป็นเมืองในประเทศโมร็อกโก แต่การถ่ายทำอยู่ที่โรงถ่ายในสหรัฐเกือบทั้งหมด การไปถ่ายทำในสถานที่จริงระหว่างสงครามโลกย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามชื่อเมืองคาซาบลังกาก็ติดหูคนทั้งโลกไปแล้ว หนังเล่าโลกถือโอกาสชวน อับเดอร์ราฮิม ราห์ฮาลี เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย คุยถึงหนัง ซึ่งท่านทูตเคยชมมาก่อนและชอบมาก
“หนังดังมากครับ รวมนักแสดงมากฝีมือในฉากเมืองคาซาบลังกา บอกเล่าเรื่องราวความรักด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อนและขบขัน ผสมผสานความรัก ความสะเทือนใจ ธุรกิจ และการเมืองเข้าด้วยกันอย่างลงตัว”
ทูตราห์ฮาลีกล่าวพร้อมอธิบายถึงคาซาบลังกาว่าเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในยุคอาณานิคม ทุกวันนี้ยังคงเป็นเมืองใหญ่สุดของโมร็อกโก มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุดเนื่องจากมีท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง บรรยากาศและถนนหนทางในเมืองเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่และทันสมัยผสมผสานกัน รวมทั้งอาคารสไตล์โคโลเนียลและมุสลิม คาซาบลังกาขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 80 สะท้อนความทันสมัยและความดั้งเดิม
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะยังเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส คาซาบลังกาหรือที่รู้จักกันในนาม “อันฟา” เคยเป็นสถานที่จัดงานใหญ่และการประชุมสำคัญ ผู้นำโลกหลายคนมาร่วมงาน เช่น กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 และมกุฎราชกุมารฮัสซันที่ 2 (ในขณะนั้น) แห่งโมร็อกโก, นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์แห่งสหราชอาณาจักร, ประธานาธิบดีโรสเวลต์แห่งสหรัฐ และนายพลชาลส์ เดอ โกล ของฝรั่งเศส ถึงวันนี้คาซาบลังกายังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีประชากรมากที่สุด โดดเด่นด้วยมัสยิดฮัสซันที่ 2 ผงาดเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก มัสยิดใหญ่สุดของทวีปแอฟริกาและใหญ่สุดอันดับ 7 ของโลก รองรับประชาชนได้ 105,000 คน เฉพาะในอาคาร 25,000 คน
นอกจากนี้ คาซาบลังกามีชายหาดแสนสวยมากมาย มีร้านอาหาร โรงแรม ไนท์คลับดีๆ (ชวนให้นึกถึงไนท์คลับของริค) และศูนย์กีฬา สนามบินโมฮัมเหม็ดที่ 5 มีเที่ยวบินเชื่อมต่อห้าทวีปและหลายเมืองในโมร็อกโก เช่น มาราเกซ, เฟซ, อกาดีร์, ออร์ซาเอท, ลายูน, อุจดา และดาคห์ลา
นั่นคือคำบอกเล่าถึงเมืองคาซาบลังกาจากปากทูตโมร็อกโก สำหรับคนที่คิดชมภาพยนตร์ บอกก่อนว่า เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ถ่ายทำในโรงถ่ายและเนื่องจากเป็นภาพยนตร์ระหว่างสงครามหลายฉากนำมาจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ไม่มีการถ่ายทำในสถานที่จริง แต่ด้วยความเป็นภาพยนตร์รักสามเส้าระหว่างรบ บทภาพยนตร์ที่ซาบซึ้งกินใจถ่ายทอดการทำเพื่ออุดมการณ์เหนือความเอิบอิ่มของหัวใจ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คาซาบลังกาในโรงถ่ายยังซาบซึ้งขนาดนี้ ถ้าได้เห็นของจริงจะตราตรึงใจขนาดไหน