เขื่อนในเขตสงครามแตก ! รัสเซีย-ยูเครนโทษกันเอง
ยูเครนเขื่อนแตก เขื่อนดังกล่าวเป็นเขื่อนสำคัญยุคโซเวียต ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของยูเครน ซึ่งรัสเซียควบคุมพื้นที่อยู่ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมทั่วพื้นที่สงคราม ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างโทษกันเองว่าเป็นฝีมือของฝ่ายตรงข้าม
วิดีโอที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียแต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน แสดงให้เห็นภาพน้ำไหลทะลักล้นซากเขื่อนที่พังทลาย ผู้คนที่พบเห็นต่างตกใจ บางคนถึงกับอุทานหยาบคายออกมาก และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นหลายเมตรภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวลึก 30 เมตร ยาว 3.2 กิโลเมตร และกักเก็บน้ำได้เทียบเท่ากับทะเลสาบเกรตซอลต์ในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐ เขื่อนนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2499 ในพื้นที่แม่น้ำนีเปอร์ เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำคาคอฟคา และเป็นแหล่งซัพพลายน้ำให้กับคาบสมุทรไครเมีย ที่ผนวกเข้ากับรัสเซียในปี 2557 และโรงงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียและรับน้ำหล่อเย็นจากอ่างเก็บน้ำ
อย่างไรก็ตาม ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) รายงานว่า ยังไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากโรงงานนิวเคลียร์เพราะเหตุการณ์เขื่อนแตก แต่องค์กรกำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ผู้บริหารโรงงาน เผยว่า ยังไม่มีภัยคุกคามต่อโรงงานแต่อย่างใด
โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนโทษว่า รัสเซียทำให้เขื่อนเกิดความเสียหาย แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียในเคอร์ซอน เผยว่า ยูเครนถล่มเขื่อนอยู่หลายครั้งเมื่อวันจันทร์ (5 มิ.ย.) เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (วันอังคารที่ 6 มิ.ย. 07.00 น. ตามเวลาสิงคโปร์) ทำให้วาล์วไฮดรอลิกของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเสียหาย แต่เขื่อนไม่ได้พังทลายทั้งหมด
เจ้าหน้าที่รัสเซียที่ควบคุมภูมิภาคดังกล่าว เผยว่า ได้ขอให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงเตรียมตัวอพยพ และหน่วยงานฉุกเฉินของภูมิภาคพร้อมปฏิบัติงานเต็มที่ รวมถึงจะให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นทั้งหมด
สำนักข่าวรัฐบาลรัสเซีย (อาร์ไอเอ) อ้างรายงานเจ้าหน้าในท้องถิ่น ระบุว่า ระดับน้ำรอบเขื่อนเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เมตร และพื้นที่ปลายน้ำหลายแห่งเกิดน้ำท่วมแล้ว
เจ้าหน้าที่รัสเซียในเมืองโนวา คาเคฟกา บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะซ่อมแซมเขื่อน หลังแรงระเบิดทำให้โครงสร้างเขื่อนเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันรายงานดังกล่าวได้