ภัยแล้งส่อทำ 'คลองปานามา' แห้งขอด ป่วนขนส่งสินค้าทางเรือโลก
ภัยแล้งส่อทำ "คลองปานามา" แห้งขอด ป่วนขนส่งสินค้าทางเรือโลก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปัญหาคอขวดด้านการขนส่งทางเรือผ่านคลองปานามาอีกครั้ง
Key Points
- มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปัญหาคอขวดด้านการขนส่งทางเรือผ่านคลองปานามาอีกครั้ง
- ปานามาเผชิญภัยแล้งรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่อเค้าประชาชนชุมนุมประท้วงถี่ขึ้นเพราะปัญหาขาดแคลนน้ำ
- ผู้เชี่ยวชาญเตือน มีความเป็นไปได้สูงที่ในช่วงครึ่งหลังของปี ปานามาจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปานามาขณะนี้ เพิ่มความเสี่ยงที่ว่าอาจจะเกิดปัญหาคอขวดอีกครั้งในระบบซัพพลายเชนโลกที่อยู่ในภาวะตึงตัวอยู่แล้วและส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และหากปัญหานี้เลวร้ายถึงระดับที่คลองปานามาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเดินทางของเรือสินค้า จะถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายระดับวิกฤติที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ระดับน้ำของทะเลสาบกาตุน และทะเลสาบอลาฮูเอลา ทะเลสาบเทียมสองแห่ง ที่ส่งน้ำไปยังคลองปานามา เพื่อยกเรือสูงขึ้นจนสามารถข้ามช่องแคบไปได้ ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ ระดับน้ำของทะเลสาบกาตุน และทะเลสาบอลาฮูเอลา ทะเลสาบเทียมสองแห่ง ที่ส่งน้ำไปยังคลองปานามา เพื่อยกเรือสูงขึ้นจนสามารถข้ามช่องแคบไปได้ ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง
หน่วยควบคุมการเดินเรือคลองปานามา (เอซีพี) ประกาศใช้ข้อจำกัดเพื่อลดน้ำหนักเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบเป็นครั้งที่ 5 หลังระดับน้ำลดต่ำลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สร้างแรงกดดันต่อเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ที่ 6% ของการค้าโลกต้องขนสินค้าผ่านช่องแคบนี้ โดยสินค้าส่วนใหญ่ถูกขนส่งมาจาก สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น
ข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. เป็นต้นไป เพื่อกำหนดให้เรือลดน้ำหนัก หรือควบคุมปริมาณสินค้าบนเรือ กำหนดให้เรือคอนเทเนอร์ที่เรียกว่า “นีโอ-ปานาเม็กซ์” ที่ต้องการแล่นผ่านคลอง ซึ่งเชื่อมต่อมมหาสมุทรแอตแลนติก กับมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องมีอัตรากินน้ำลึกอยู่ที่ 47.5 ฟุต ซึ่งลดลงจากเดิม 50 ฟุต ทำให้เรือต้องลดน้ำหนักบรรทุก หรือขนส่งสินค้าน้อยลง
นอกจากนี้ ทางการปานามา ยังเกิดความกังวลว่า รายได้จากค่าผ่านทางจะลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะทำให้บริษัทเดินเรือบางแห่งตัดสินใจใช้เส้นทางอื่น โดยในปีงบประมาณ 2565 มีเรือมากกว่า 14,000 ลำ บรรทุกสินค้ากว่า 518 ล้านตันข้ามคลอง ทำให้มีรายได้กว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์
นายจอร์จ กิยาโน อดีตผู้ดูแลคลองปานามา กล่าวว่า หากไม่มีอ่างเก็บน้ำใหม่ จะทำให้ความสามารถในการขนส่งสินค้าลดลง การหาแหล่งน้ำใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นปัญหาแก่ทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม การนำน้ำมาใช้ในคลองปานามา ยังทำให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำใช้ เนื่องจากแหล่งน้ำจากทะเลสาบทั้ง 2 แห่งจ่ายน้ำให้มากกว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ การขาดแคลนน้ำอุปโภค ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อาจเกิดความขัดแย้งอีกในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในช่วงครึ่งหลังของปี ปานามาจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีฝนตกน้อยลง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ทั้งหมดเลวร้ายยิ่งขึ้น