เศรษฐกิจอินเดียโตแกร่ง สวนทางกำไรภาคอุตฯจีนดิ่ง
โกลด์แมนแซคส์ชูแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่อเค้าว่าจะถดถอย ขณะเอ็นบีเอส รายงานผลกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 18.8% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพราะผลพวงจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลง หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“เดวิด โซโลมอน” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ของธนาคารโกลด์แมน แซคส์แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจอินเดียกำลังอยู่ในทิศทางการเติบโตที่สูงมาก โดยคาดว่าจะมีการขยายตัว 6-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
โซโลมอนให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อีโคโนมิค ไทม์สในวันพุธ (28 มิ.ย.) ว่า บรรดาซีอีโอทั่วโลกต่างก็มองว่า อินเดียมีโอกาสการเติบโตสูง ในขณะเดียวกันก็ประเมินความท้าทายเกี่ยวกับการลงทุนในอินเดีย
นอกจากนี้ โซโลมอนยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐ สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าที่เขาคาดการณ์ไว้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะขยายตัวเพียง 0-1% และเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4% ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย
“มีสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลง และเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 2% ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยใหญ่ที่จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อเป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์, การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับเปลี่ยนของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โซโลมอนกล่าว
หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐในเดือนมี.ค. หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางสหรัฐ และกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้แสดงความพอใจที่ธนาคารรายใหญ่ 11 แห่งของวอลล์สตรีทได้ยื่นมือเข้ากอบกู้วิกฤตด้วยการอัดฉีดเงินฝากรวมกันจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) โดยโกลด์แมน แซคส์ เป็น 1 ในธนาคารรายใหญ่ที่เข้ากอบกู้วิกฤตในครั้งนี้
โซโลมอน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วิกฤตการณ์ธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และมีผลกระทบกับธนาคารเพียงไม่กี่แห่งที่มีโมเดลทางธุรกิจแบบเฉพาะเจาะจง แต่ระบบธนาคารในสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การควบรวมกิจการมากขึ้นในภาคธนาคาร
การแสดงความเห็นของซีอีโอโกลด์แมน แซคส์ มีขึ้นในช่วงที่กำไรภาคอุตสาหกรรมจีนทรุดต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วๆนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) รายงานในวานนี้ (28 มิ.ย.) ว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 18.8% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากบริษัทในภาคส่วนนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากร่วงลง 20.6% ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ส่วนในเดือนพ.ค.เพียงเดือนเดียวนั้น กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวลง 12.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ร่วงลง 18.2% ในเดือนเม.ย. โดยตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้จากการสำรวจบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีรายได้ต่อปีจากธุรกิจหลักอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (2.77 ล้านดอลลาร์)
การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของกำไรภาคอุตสาหกรรมจีนมีขึ้นหลังจากที่จีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการที่อ่อนแอลงในเดือนพ.ค. ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีก, ยอดส่งออก, การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งอัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20.8%
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของจีนส่งผลให้เอสแอนด์พี โกลบอล, โกลด์แมน แซคส์ และสถาบันการเงินระดับโลกอีกหลายแห่ง พากันปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปีนี้