เปิดผลกระทบ ‘พายุสุริยะ’ จุดจบโลกอินเทอร์เน็ต?
“พายุสุริยะ” ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อผู้คนในโลกออนไลน์ต่างมองว่า ปรากฏการณ์นี้อาจนำไปสู่ “วันจุดจบของโลกอินเทอร์เน็ต” สิ่งนี้เป็นจริงหรือไม่ และ NASA มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
Key Points
- ปี 2532 เกิดไฟฟ้าดับที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมงจากพายุสุริยะที่โหมกระหน่ำ ชาวแคนาดานับล้านคนต้องเผชิญความมืดมิด โรงเรียนและย่านธุรกิจปิดทำการ
- เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ดาวเทียมสื่อสาร Starlink ของบริษัท SpaceX 40 ดวงเสียหายจากพายุสุริยะจนตกสู่โลก และเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ
- องค์การ NASA สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ และกระทรวงพลังงานสหรัฐ ได้พัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ DAGGER ร่วมกับ AI ที่ช่วยคาดการณ์พายุสุริยะอันรุนแรงที่จะกระทบต่อโลกก่อนเกิดเหตุ 30 นาที
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า โลกจะเผชิญ “วันจุดจบของอินเทอร์เน็ต” (Internet Apocalypse) ใช้งานไม่ได้หลายเดือนจนถึงเป็นปีจากพายุสุริยะ สิ่งนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ และพายุสุริยะที่ปล่อยจากดวงอาทิตย์อันร้อนระอุ จะกระทบต่อโลกอย่างไรบ้าง
ในปัจจุบัน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือ NASA ยังไม่มีประกาศเตือนภัยอินเทอร์เน็ตจะดับจากพายุสุริยะอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ NASA ได้ออกบทความล่าสุดบนเว็บไซต์ NASA เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ในชื่อบทความว่า “NASA-enabled AI Predictions May Give Time to Prepare for Solar Storms” แสดงความกังวลถึงผลกระทบของพายุสุริยะที่มีต่อโลก โดยเฉพาะดาวเทียม อุปกรณ์สื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อาจ “อัมพาต” พร้อมเตรียมหาวิธีรับมือ
- พายุสุริยะคืออะไร และอันตรายต่อโลกไหม
“ดวงอาทิตย์” ดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิร้อนระอุและเผาผลาญตัวเองตลอดเวลา จะปลดปล่อยพลังอนุภาคที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กตรอน โปรตอน ประจุไฟฟ้าต่าง ๆ ออกมา ซึ่งเรียกพลังงานนี้ว่า “ลมสุริยะ” และเมื่ออนุภาคมีปริมาณและความเร็วที่รุนแรงกว่าปกติหลายเท่า จะพัฒนาเป็น “พายุสุริยะ”
- ความยิ่งใหญ่ของพายุสุริยะ (เครดิต: AFP) -
พิยุช เมทา (Piyush Mehta) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมอวกาศและเครื่องกลแห่งมหาวิทยาลัย West Virginia University ประเทศสหรัฐ ระบุว่า ลมสุริยะที่ถูกปล่อยจากดวงอาทิตย์ มีความเร็วประมาณ 1.4 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง และถ้ามีความรุนแรงมากขึ้นก็สามารถวิ่งเร็วขึ้นถึง 5 เท่าได้ โดยพายุสุริยะที่พัดมายังโลก มีหลายระดับตั้งแต่อ่อนไปจนถึงเข้มข้น โดยอาจเป็นอันตรายต่อดาวเทียมและโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้
1. ระบบดาวเทียม
การใช้ระบบนำทางอย่าง GPS การสื่อสารระหว่างเครือข่ายบนฟ้ากับภาคพื้นดิน ล้วนต้องพึ่งพาดาวเทียมทั้งสิ้น พายุสุริยะสามารถทำให้ระบบเหล่านี้ขัดข้อง ไปจนถึงขั้นเสียหายได้ ดังกรณีดาวเทียม Starlink เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ดาวเทียมสื่อสาร Starlink ของบริษัท SpaceX จำนวน 49 ดวงเข้าสู่วงโคจร จนกระทั่งวันที่ 8 ก.พ. 2565 ทางบริษัท SpaceX เปิดเผยว่า ดาวเทียม 40 ดวงเสียหายจากพายุสุริยะจนตกสู่โลก และเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ
- ดาวเทียม Starlink (เครดิต: SpaceX) -
2. ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
โครงสร้างพื้นฐานมนุษย์เกี่ยวพันกับระบบจ่ายกระแสไฟ ระบบสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่ง NASA ระบุว่า ก่อนหน้านั้นได้เกิด 2 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบจากพายุสุริยะ ได้แก่
เมื่อเดือน ก.ย. 2402 เกิดเหตุการณ์ Carrington ซึ่งเป็นเหตุการณ์พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยบันทึกไว้ ทำให้ระบบไปรษณีย์โทรเลขลัดวงจร จนกลายเป็นเพลิงไหม้หลายแห่งในยุโรปและอเมริกา โดยคณะนักวิจัยจากตลาดประกันภัย Lloyd's of London และหน่วยงานวิจัยชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในสหรัฐคาดการณ์ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ในระดับเดียวกับ Carrington อีกครั้งในปัจจุบัน อาจก่อความเสียหายในสหรัฐ 6 แสนล้านถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 21-71 ล้านล้านบาท
เมื่อเดือน มี.ค. 2532 เกิดไฟฟ้าดับที่รัฐควิเบก (Quebec) ประเทศแคนาดา เป็นเวลานาน 12 ชั่วโมงจากพายุสุริยะที่โหมกระหน่ำ ชาวแคนาดานับล้านคนต้องเผชิญความมืดมิด โรงเรียนและย่านธุรกิจปิดทำการ
นอกจากนี้ พายุสุริยะยังสามารถทำให้ระบบสื่อสารทำงานผิดพลาด ใช้งานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรศัพท์ หอบังคับการบิน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พายุสุริยะไม่ได้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากความเข้มข้นของพายุได้ถูกดูดซับด้วยชั้นสนามแม่เหล็กของโลกไว้ (Magnetosphere) ขณะที่นักบินอวกาศที่อยู่นอกโลก อาจได้รับอันตรายได้จากพายุสุริยะช่วงเข้มข้นสูง จึงควรหยุดกิจกรรมอวกาศชั่วคราวก่อนและหลบพายุในยาน
แซนจีธา อับดู จโยธิ (Sangeetha Abdu Jyothi) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย University of California ในสหรัฐ แสดงความเห็นว่า ความเสี่ยงที่อินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่มจากมหาพายุสุริยะ ยังเป็นประเด็นที่มีการศึกษาน้อย จนยากที่จะประเมินได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานบนโลกจะตอบสนองต่อพายุสุริยะอย่างไร จึงน่ากังวลว่าจะซ้ำรอยการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาหรือไม่ ผลจากการที่มนุษย์ไม่ได้เตรียมรับมือกับการระบาดเช่นนี้มาก่อน ทำให้ผู้คนติดเชื้อจำนวนมาก หน้ากากอนามัยและถุงมือขาดแคลน
นอกจากนี้ จโยธิ ซึ่งเขียนบทความวิจัยที่ชื่อว่า “Solar Superstorms: Planning for an Internet Apocalypse” หรือที่แปลว่า “มหาพายุสุริยะ กับการเตรียมรับมือวันจุดจบของโลกอินเทอร์เน็ต” ยังมองว่า พายุสุริยะที่รุนแรงอาจรบกวนสายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อยู่ใต้ทะเล รวมไปถึงแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้
- วัฏจักรพายุสุริยะ และการเตรียมรับมือของ NASA
พายุสุริยะจะมีรอบวัฏจักร อยู่ที่รอบละประมาณ 11 ปี โดยในปัจจุบัน โลกเข้าสู่รอบวัฏจักรพายุสุริยะที่ 25 ซึ่งเริ่มต้นในเดือน ธ.ค. 2562 และ NASA คาดว่าจะมีความรุนแรงมากที่สุดราวปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงกึ่งกลางวัฏจักร
- วัฏจักรของพายุสุริยะ อาจกลับมาแตะระดับสูงสุดในปี 2568 (เครดิต: National Center for Atmospheric Research) -
ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยนานาชาติที่ห้องปฏิบัติการ Frontier Development ซึ่งร่วมมือกับ NASA สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ และกระทรวงพลังงานสหรัฐ ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างลมสุริยะกับการรบกวนระบบโทรคมนาคมบนโลก
จากนั้น ทีมวิจัยได้พัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า DAGGER (Deep Learning Geomagnetic Perturbation) ร่วมกับ AI ที่ช่วยคาดการณ์พายุสุริยะอันรุนแรงที่จะกระทบต่อโลกก่อนเกิดเหตุ 30 นาที
วิชาล ยูเพนแดรน (Vishal Upendran) นักวิจัยแห่งสถาบัน Inter-University Center ด้านดาราศาสตร์และเป็นผู้นำเขียนบทความวิจัยโมเดล DAGGER ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Space Weather กล่าวว่า ด้วยความสามารถของ AI จึงช่วยคาดการณ์พายุสุริยะได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
โมเดล DAGGER เป็นโค้ดแบบโอเพนซอร์ส ที่เปิดให้บริษัทต่าง ๆ สามารถนำมาปรับใช้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมดาวเทียม บริษัทโทรคมนาคม ฯลฯ การรับรู้ภัยล่วงหน้าเหล่านี้ช่วยให้บริษัทมีเวลาปกป้องระบบสำคัญ ด้วยการปิดการใช้งานชั่วคราว หรือย้ายอุปกรณ์สำคัญไปอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น การเปลี่ยนเส้นทางดาวเทียม
กล่าวสรุป คือ “พายุสุริยะ” เป็นพลังงานที่ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ ซึ่งหากมีระดับรุนแรงก็สามารถส่งผลกระทบต่อดาวเทียม ระบบสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของโลกได้
แม้ปัจจุบันจะยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์อินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่มจากพายุสุริยะ แต่การเตรียมรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าจะช่วยลดผลกระทบลงได้ เปรียบได้กับเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่หลายฝ่ายต่างไม่คาดฝันว่าจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก จนถึงขั้นต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปิดประเทศ
- พายุสุริยะที่พวยพุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ (เครดิต: NASA) -
อ้างอิง: nasa, nasa(2), nasa(3), space, space(2), space(3), washingtonpost, cbsnews