'รถไฟทุนจีน'หนุนเศรษฐกิจลาว ลดความเสี่ยงพึ่งรายได้ท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเข้าไปท่องเที่ยวในลาวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากไทยและเวียดนาม และนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อเศรษฐกิจลาวอย่างมาด
เศรษฐกิจลาวกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มซาลง เนื่องจากการเปิดทางเชื่อมรถไฟโดยสารกับประเทศจีน ช่วยดึงนักท่องเที่ยวกลับมาได้ แต่ผลที่ตามมาคือ มีความเสี่ยงที่ลาวจะกลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อเดือน เม.ย. ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของลาว ปี 2566 อาจโต 4% เพิ่มขึ้น 0.5% และมากกว่าจีดีพีปี 2565 1.7% ขณะที่ปี 2562 อัตราการเติบโตจีดีพีแตะที่ระดับ 4.7% ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนั้นเศรษฐกิจลาวชะลอตัวลงในปี 2563 ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 2% ในปี 2564 และ 2565
ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจลาวเติบโตมากที่สุดคือ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพีลาว
ข้อมูลจากรัฐบาล ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. หลั่งไหลเข้ามามากถึง 1.11 ล้านคน มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ของปีก่อนหน้า
สำนักข่าวมะนิลาบุลเลติน รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2565 ราว 204% นักท่องเที่ยวจำนวนมาก มาจากประเทศไทย 430,979 คน รองลงมาคือเวียดนาม 224,461 คน และมาจากจีน 223,350 คน
ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลาวมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศประมาณ 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวกว่า 485,000 คนเป็นคนลาว คิดเป็น 81% ของเป้าหมายคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้แล้ว และรัฐบาลลาวคาดว่า นักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 600,000 คน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566
ข้อมูลจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว ระบุว่าในปี 2565 ลาวมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 1,294,388 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจากไทย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐ
ลาวคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 370,000 คน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีมากกว่า 200,000 คนตั้งแต่เดือน เม.ย.
เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวและองค์กรต่าง ๆ ในลาว จึงเร่งพัฒนาบริการต่าง ๆ ในโรงแรม บ้านพัก และร้านอาหาร รวมถึงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ณ จุดท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เพราะการมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ
ด้านเอดีบี คาดการณ์ว่า ลาวจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศประมาณ 2.6 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2565 แต่ตัวเลขดังกล่าว ยังคงน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับยอดนักท่องเที่ยวในปี 2562 ที่มี 4.8 ล้านคน
อีกปัจจัยที่หนุนการท่องเที่ยวลาวฟื้นตัวคือ บริการขนส่งผู้โดยสารบนทางรถไฟข้ามพรมแดน 1,000 กิโลเมตร ที่เชื่อมเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนานของจีนกับกรุงเวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว เริ่มให้บริการแล้วเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งค่าก่อสร้างทางรถไฟประมาณ 60% ของ 6,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจากทุนของธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าของจีน
รถไฟดังกล่าวให้บริการเดินทางจากจีนและจากลาววันละ 1 เที่ยว โดยจะหยุดที่หลวงพระบาง เมืองหลวงเก่าของลาว ที่เป็นมรดกโลก จากการพิจารณาของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)และเมืองบ่อเต็นในเขตประเทศจีน
ประชาชนในหลวงพระบาง ที่เปิดคาเฟ่เมื่อบริการรถไฟจีนลาวเปิดให้บริการ บอกว่า มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และชาวบ้านหวังให้มีรถไฟผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น
ในเดือน พ.ค. รัฐบาลเวียงจันทร์ ประกาศแผน 3 ปี ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะจีน
เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้าลาวมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากไทยและเวียดนาม และเมื่อนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยขนาดใหญ่ที่มีอิทธิผลต่อเศรษฐกิจลาว
แผนของรัฐบาลลาว มีทั้งฝึกไกด์ที่พูดจีนได้, เพิ่มเที่ยวบินจากเมืองจีน รวมถึงสนับสนุนการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนบริษัทเอกชนก็ได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการดึงดูดนักท่องเที่ยวตามแผนรัฐบาล
รัฐบาลจีนเองก็สนับสนุนในประชาชนท่องเที่ยวในลาว รวมถึงประเทศที่อยู่ในรายชื่อจุดหมายปลายทางที่ได้รับการอนุมัติ และยกเลิกการแบนกรุ๊ปทัวร์ต่างประเทศในเดือน ก.พ.
อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลาว ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการขยายอิทธิพลของจีน เพราะเงินหยวนเป็นเงินที่นิยมใช้ในเมืองที่ให้บริการทางรถไฟ และทางหลวงที่สร้างขึ้นนอกชานเมืองเวียงจันทร์ในปี 2563 ก็ได้รับการลงทุนจากจีน
นอกจากนี้ ลาวยังมีความกังวลว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจลดลง เนื่องจากการคลังมีปัญหา โดยในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. เงินกีบอ่อนค่าอย่างมาก โดยอ่อนค่ากว่าดอลลาร์ 32% นับตั้งแต่ต้นปี จากหลายปัจจัย เช่น หนี้เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นของสกุลเงินกีบลดลง ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคหยุดชะงัก
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจลาวชะลอตัวลงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสิ้นปี 2564 หนี้สาธารณะลาวเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 90% ของจีดีพี โดยจีนเป็นเจ้าหนี้เกือบครึ่งหนึ่งของหนี้ต่างประเทศ
“เคนิชิโร ยามาดะ” โฆษกจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่มีสำนักงานในเวียงจันทร์ เตือนว่า “ถ้าลาวพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่การแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้”