โตโยต้าโว! พัฒนาแบตเตอรี่ขั้นสูง ชาร์จ 10 นาที วิ่งได้เกือบ 1,200 กิโลเมตร

โตโยต้าโว! พัฒนาแบตเตอรี่ขั้นสูง ชาร์จ 10 นาที วิ่งได้เกือบ 1,200 กิโลเมตร

โตโยต้า มอเตอร์ โค ค่ายรถรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เผยประสบความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดแข็ง ที่ใช้เวลาชาร์จไม่ถึง 10 นาที แต่วิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตร จากการชาร์จเพียงครั้งเดียว มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 2.4 เท่า

แบตเตอรี่ชนิดแข็ง เป็นแบตเตอรี่มีคุณภาพสูง ใช้อิเล็กโทรไลต์แบบแข็งที่มีความเสถียรสูง สามารถเก็บไฟได้นานกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ชนิดเหลวแบบเดียวกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแบตเตอรี่แบบใหม่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยแห่งรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้า

“คาโต้ ทาเคโร” ประธานกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานแบตเตอรี่ BEV ของโตโยต้า เปิดเผยว่า โตโยต้าต้องการจะเปลี่ยนอนาคตของโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และภายในปี 2569 บริษัทจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่ ซึ่งจะผลิตโดยใช้สายพานการผลิตที่ขับเคลื่อนตัวเอง รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการหล่อฉีดชิ้นส่วน (Giga Casting) เพื่อลดต้นทุน และทำให้รถมีราคาที่เข้าถึงได้ โดยบริษัทตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1.7 ล้านคันภายในปี 2573

การเคลื่อนไหวของโตโยต้ามีขึ้นหลังจากสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ซึ่งทำวิจัยร่วมกับบริษัทวิจัยพาเท็นต์ รีซัลท์ ระบุว่า โตโยต้า มอเตอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการจดสิทธิบัตรแบตเตอรี่ชนิดแข็งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยอยู่ที่ 1,331 ฉบับ แซงหน้าอันดับ 2 และ 3 อย่าง พานาโซนิค โฮลดิงส์ ซึ่งอยู่ที่ 445 ฉบับ และ อิเดมิตสึ โคซัน 272 ฉบับ โดยเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด

 

 

 

การจัดอันดับนี้ วัดจากการจดสิทธิบัตรกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระหว่างปี 2543 - สิ้นเดือน มี.ค.2565 ใน 10 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งพบว่า 6 อันดับแรก เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด มีเพียง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จากเกาหลีใต้เท่านั้นซึ่งมาในอันดับ 4

สำหรับแบตเตอรี่ชนิดแข็ง มีความสำคัญตรงที่เป็นแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงกว่าแบตเตอรี่ “ลิเธียมไอออน” ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบัน เพราะเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง มีโอกาสติดไฟต่ำทำให้ปลอดภัยสูง มีเสถียรภาพสูง และมีประสิทธิภาพการกักเก็บพลังงานที่เหนือกว่า สามารถชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ยังติดปัญหาสำคัญที่มีราคาแพง

ด้วยราคาที่สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถึง 4 เท่า จึงทำให้ยังไม่มีการใช้งานแบตเตอรี่โซลิดสเตทในรถยนต์ทั่วไป มีเพียงการใช้ในรถยนต์ต้นแบบ หรือ Prototype เท่านั้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น LG ของโตโยต้า

ทั้งนี้ โตโยต้าวิจัยเรื่องแบตเตอรี่โซลิดสเตทมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 90 และมีการจดสิทธิบัตรครอบคลุมหลายด้าน เช่น โครงสร้างแบตเตอรี่ วัสดุ และกระบวนการผลิต ทั้งยังร่วมมือกับบริษัท พานาโซนิค ทำการตั้งบริษัทร่วมทุนด้านแบตเตอรี่รถอีวีขึ้นมาในปี 2563

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์