เปิดสถิติแบนหนังสือทั่วโลก มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ หวังปิดปากนักเขียน
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าหนังสือ “Rama X : The Thai Monarchy King Vajiralongkorn” ของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” กรุงเทพธุรกิจชวนเปิดสถิติการแบนหนังสือทั่วโลก ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ
เว็บไซต์ wordsrated.com รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมาการแบนหนังสือ ครั้งแรกสุดเท่าที่มีบันทึกไว้ มีมาตั้งแต่ก่อนยุคสากลปัจจุบัน ไล่ตั้งแต่โรมันโบราณไปจนถึงจีน เพื่อปิดปากนักเขียนบางคนและผลงานของเขา สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ
เทรนด์นี้ไม่เคยห่างหายไปแม้แต่ในโลกยุคใหม่ ความพยายามเซ็นเซอร์หนังสือบางเล่มมีให้เห็นเสมอ รายงานชิ้นนี้เน้นการสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ อาศัยข้อมูลที่มีให้ค้นได้ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขจริงน่าจะมากกว่านี้
การแบนหนังสือจำแนกเป็นรายทวีป
- ประเทศเอเชียแบนหนังสือเกือบ 44% ของโลก
- ยุโรป 33% มากเป็นอันดับสอง
- อเมริกาเหนือ 7.41%
- แอฟริกาและออสเตรเลีย (รวมถึงนิวซีแลนด์) 6.61%
- อเมริกาใต้มีเพียง 2.38% ส่วนใหญ่ในชิลียุคปิโนเชต์
การแบนหนังสือจำแนกเป็นรายประเทศ
- อินเดียแบนหนังสือมากที่สุดในโลก 11.11%
- จีน 8.99%
- สิงคโปร์ 8.47%
- ไอร์แลนด์ 6.35% (มากที่สุดนอกทวีปเอเชีย)
- ออสเตรเลียและสหรัฐ 5.29%
- เยอรมนี สเปน รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ติดกลุ่มท็อปเท็น
ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษแห่งการแบนหนังสือ แต่อย่าลืมว่า โลกยุคใหม่มีการบันทึกสถิติชัดเจนกว่าสมัยก่อน
- กว่า 70.9% ของการแบนหนังสือทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 20
- กว่า 16.62% ของการแบนหนังสือทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 21
- 7.61% ของการเซ็นเซอร์เกิดขึ้นระหว่างปี 1801-1900 ขณะที่ 100 ปีก่อนหน้านั้นแบนหนังสือ 2.54%
ฐานข้อมูลที่มีพบการแบนหนังสือในศตวรรษที่ 14 และ 16 ด้วย แม้แต่ก่อนกาลสมัยสากลก็มีบันทึกการแบนหนังสืออยู่บ้าง
หนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแต่ง เช่น นวนิยาย แต่ก็มีการห้ามเผยแพร่หนังสือเด็ก, หนังสือศาสนา, คำประกาศทางการเมือง, ประวัติบุคคลบางคน, บทกวี, งานวิชาการ หรือแม้แต่หนังสือการ์ตูนด้วย
ประเภทหนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่
- นวนิยาย42.2%
- เรื่องจริงทั่วไป25.38%
- เรื่องแต่งทั่วไป8.26%
- หนังสือการเมือง (คำประกาศ แผ่นพับ) 7.65%
- ประวัติบุคคล/อัตชีวประวัติและหนังสือศาสนา ประเภทละ 4.28%
เอกสาร ตำราเรียน งานวิชาการ ถูกห้ามเผยแพร่น้อยที่สุด
ที่มา: https://wordsrated.com/global-book-banning-statistics/