น้ำเสียฟุกุชิมะ ระเบิดลูกสุดท้าย ถล่มอุตฯ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’

น้ำเสียฟุกุชิมะ ระเบิดลูกสุดท้าย ถล่มอุตฯ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’

เมื่อญี่ปุ่นมีแผนปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หลายประเทศจึงกังวลว่าอาหารทะเลอาจปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี กระทบอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และจีน แต่ดูเหมือนว่าเกาหลีใต้จะกังวลมากที่สุด

เมื่อญี่ปุ่นมีแผนปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ที่พังทลายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อปี 2554 หลายประเทศจึงเกิดความกังวลว่า น้ำเสียที่ปล่อยออกมาอาจปนเปื้อน และไม่ปลอดภัย แม้ญี่ปุ่นยืนยันว่าบำบัดน้ำเสียจนมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลแล้วก็ตาม

หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดความกังวล อาทิ เกาหลีใต้ ชาวประมงในประเทศบอกว่า ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง หลายคนต่างกักตุนอาหารก่อนญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย เพราะกลัวการปนเปื้อน ขณะที่จีนระงับนำเข้าอาหารทะเลในบางภาคของญี่ปุ่นแล้ว

เกาหลีแห่กักตุนเกลือ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ไปเยือนซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงโซล พบว่า เกลือจำหน่ายหมดเกลี้ยง

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนมิ.ย. อ้างอิงแหล่งข่าวเกาหลีใต้ เผยว่า ประชาชนเกาหลีใต้เริ่มกักตุนอาหารที่มาจากทะเลอื่นๆ นอกจากเกลือด้วย อาทิ สาหร่ายทะเล และปลาแองโชวี

สมาคมผู้ผลิตเกลือของเกาหลีใต้ เผยว่า การขาดแคลนสินค้าจากทะเลเกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้รัฐบาลต้องนำเกลือสำรองออกมาจำหน่ายเพื่อคงราคาเกลือไว้ เพราะพุ่งสูงขึ้น 40% ตั้งแต่เดือนเม.ย. นอกจากนี้ รัฐบาลยังอ้างว่า สภาพอากาศย่ำแย่ มีส่วนกระทบผลผลิตเกลือ และทำให้ราคาเกลือพุ่งสูง

อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาสมุทร และการประมง แจ้งไว้เมื่อเดือนก่อนว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับซัพพลายเกลือ เพราะมีเกลือพร้อมจำหน่ายในเดือนมิ.ย.- ก.ค. 120,000 ตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยต่อปี และขอให้ประชาชนซื้อเกลือเท่าที่จำเป็น

น้ำเสียฟุกุชิมะ ระเบิดลูกสุดท้าย ถล่มอุตฯ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’

อาหารทะเลถูกแบน

นอกจากความกังวลเรื่องเกลือแล้ว ประชาชนยังกังวลเกี่ยวกับอาหารทะเลด้วย โดยรัฐบาลเกาหลีถึงกับใช้เครื่องตรวจจับรังสี ทดสอบความสดใหม่ของอาหารทะเลแผงลอย ในตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เพื่อคลายความกังวล

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ระงับนำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ฟุกุชิมะตั้งแต่ปี 2556 และจะคงมาตรการนี้ต่อไป แต่การแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้

ผลสำรวจจากแกลลัพเกาหลี ในเดือนมิ.ย. พบว่า ประชาชนที่สำรวจ 78% กังวลเกี่ยวกับอาหารทะเลปนเปื้อนมาก บางคนบอกว่าจะเลิกทานอาหารทะเล ถ้าน้ำเสียฟุกุชิมะปล่อยออกมา

ขณะที่ประเทศจีน ประกาศระงับนำเข้าอาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมทั้งฟุกุชิมะ และยกระดับการตรวจสอบกระบวนการขนส่งอาหารในส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่นด้วย “เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารญี่ปุ่นที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีส่งออกมาจีนได้”

น้ำเสียฟุกุชิมะ ระเบิดลูกสุดท้าย ถล่มอุตฯ ‘อาหารทะเลญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’

น้ำเสียฟุกุชิมะ ระเบิดลูกสุดท้าย

ชาวประมงญี่ปุ่นก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน เพราะถูกระงับกิจการมาหลายปี หลังโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะเสียหาย 

ช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ อุตสาหกรรมประมงชายฝั่งฟุกุชิมะ มีมูลค่าราว 69 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553 ส่วนในปี 2561 มูลค่าอุตฯลดลงเหลือประมาณ 17 ล้านดอลลาร์ และในปีที่แล้วฟื้นตัวได้ดีจนมีมูลค่าอุตฯ แตะ 26 ล้านดอลลาร์ แต่การปล่อยน้ำเสียอาจเป็นระเบิดลูกสุดท้ายที่ถล่มอุตสาหกรรมประมงอีกครั้ง

นอกจากชาวประมงญี่ปุ่นได้รับผลกระทบแล้ว ชาวประมงเกาหลีใต้ ที่ทำธุรกิจนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ญี่ปุ่น อาจได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน

ชาวประมงในท่าเรือทงยองคนหนึ่ง บอกว่า “ประชาชนมากกว่า 80% จะทานอาหารทะเลน้อยลง เรื่องนี้น่ากังวลมาก ถ้าประชาชนหลีกเลี่ยงทานอาหารทะเล ธุรกิจเราอาจล้มละลาย”

ด้านทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) พยายามช่วยคลี่คลายความกังวล จึงสรุปในรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การปล่อยน้ำเสีย อาจกระทบต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย

ขณะที่เกาหลีใต้เผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลเคารพการตรวจสอบของไอเออีเอ แต่ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนหลายคนมั่นใจได้ เห็นได้จากประชาชนนับร้อยออกมาประท้วงในกรุงโซลเมื่อวันเสาร์ (8 ก.ค.) ช่วงที่ “ราฟาเอล กรอสซี” อธิบดีไอเออีเอมาเยือนเมืองหลวง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์