จับตากองทัพทั่วโลก ตัวการ'ถ่วง'แผนการลดโลกร้อน

จับตากองทัพทั่วโลก ตัวการ'ถ่วง'แผนการลดโลกร้อน

จับตากองทัพทั่วโลก ตัวการ'ถ่วง'แผนการลดโลกร้อน โดยช่วง 12 เดือนแรกของสงครามยูเครน อาจเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และซีเรียรวมกัน

หากพูดถึงการปล่อยมลพิษทั่วโลก ยังมีต้นตอใหญ่ของปัญหาปล่อยมลพิษที่หลายคนมองข้ามนั่นก็คือ กองทัพทั่วโลก

เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นแตะระดับสูงสุด นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเร่งสร้างความกดดันต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อบังคับให้กองทัพทั้งหลาย เปิดเผยปริมาณการปล่อยมลพิษ และยกเลิกข้อละเว้นเปิดเผยการปล่อยมลพิษของกองทัพ ที่ทำให้ปริมาณมลพิษทางอากาศจากกองทัพไม่ได้ถูกบันทึก

จากคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติปี 2565 ระบุว่า เหล่ากองทัพ หนึ่งในผู้ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก มีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 5.5% ของโลก

นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการหลายคนบอกว่า กองกำลังป้องกันหลายหน่วยงาน ไม่มีข้อผูกมัดในการทำข้อตกลงสภาพอากาศนานาชาติ ที่กำหนดให้รายงานหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และข้อมูลที่เผยแพร่โดยกองทัพบางแห่งไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือข้อมูลไม่มีความสมบูรณ์

นั่นเป็นเพราะ การเปิดเผยการปล่อยมลพิษทางทหารนอกประเทศ ตั้งแต่การใช้เครื่องบินรบไปจนถึงการปล่อยเรือเพื่อฝึกซ้อมทางทหาร ได้รับการยกเว้นในพิธีสารเกียวโต ปี 1997 ที่กำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้รับการยกเว้นอีกครั้งในข้อตกลงปารีส 2015 โดยให้เหตุผลว่า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานของกองทัพ อาจบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ

ขณะนี้กลุ่มสิ่งแวดล้อม Tipping Point North South และ The Conflict and Environment Observatory พร้อมด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอังกฤษ ทั้งอ็อกฟอร์ดและควีนแมรี ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ผลักดันให้ปริมาณการปล่อยมลพิษทางทหาร เผยแพร่อย่างครอบคลุมและโปร่งใสมากขึ้น ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ ด้วยการเผยแพร่รายงานวิจัย การรณรงค์ และเข้าร่วมงานประชุมต่าง ๆ เพื่อล็อบบี้ให้หลายฝ่ายตระหนักถึงเรื่องนี้

นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง ที่คอยติดตามรายงานวิจัยการปล่อยมลพิษ เผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เอกสารรณรงค์ที่ได้รับการตรวจสอบจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมเผยแพร่ออกมาแล้ว 17 ฉบับ เพิ่มขึ้น 3 เท่า ของจำนวนเอกสารในปี 2565 และเมื่อกับเอกสารช่วง 9 ปีที่ผ่านมารวมกัน
 

กลุ่มเรียกร้องหลายกลุ่ม ได้เขียนถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) เมื่อเดือน ก.พ. ระบุว่า ให้หน่วยงานสภาพอากาศของยูเอ็น นำตัวเลขการปล่อยมลพิษทางทหารทั้งหมดรวมไว้ในอนุสัญญาดังกล่าวด้วย เพื่อให้ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“ภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศของเรา ไม่สามารถอนุญาตให้ละเว้นการเผยข้อมูลมลพิษที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารและความขัดแย้ง ภายในการดำเนินงานของยูเอ็นเอฟซีซีซี” กลุ่มดังกล่าวระบุ

ยูเอ็นเอฟซีซีซี ตอบกลับกลุ่มสิ่งแวดล้อมผ่านอีเมลว่า หน่วยงานยังไม่มีแผนเกี่ยวกับการเปิดเผยมลพิษทางทหารที่เป็นรูปธรรม แต่ปัญหานี้อาจถูกหยิบยกขึ้นมาหารือผ่านการประชุมสุดยอดในอนาคต รวมทั้งการประชุม COP28 ในดูไบ

ทั้งนี้ บัญชีรวมการปล่อยมลพิษ จะมีความสำคัญต่อการคำนวณปริมาณการปล่อยมลพิษทั่วโลกครั้งแรก ซึ่งสามารถช่วยประเมินได้ว่าแต่ละประเทศปรับปรุงการปล่อยมลพิษตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสมากน้อยเพียงใด และจะมีการพูดถึงบัญชีการปล่อยมลพิษในประชุมสุดยอดสภาพอากาศ COP28 ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) วันที่ 30 พ.ย. นี้

ด้าน “แอ็กเซล มิคาเอลโลวา” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Perspectives Climate เตือนว่า การปล่อยคาร์บอนหลายร้อยล้านตัน อาจยังไม่ได้นับรวมไว้ในบัญชีปล่อยมลพิษ

เมื่อถามว่าที่ประชุมยูเอ็นจะหารือเรื่องการปล่อยมลพิษทางทหารหรือไม่ ประธานาธิบดียูเออี บอกแต่เพียงว่า หนึ่งในวันสำคัญของการประชุมสุดยอดจะเป็นการบรรเทาทุกข์ ช่วยฟื้นฟูและสร้างสันติภาพ แต่ไม่บอกรายละเอียดใดๆเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กลุ่มสิ่งแวดล้อมล็อบบี้ยูเอ็น ให้ยกเลิกข้อละเว้นเผยปริมาณการปล่อยมลพิษทางทหาร ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยูเครนด้วย

รายงานจาก “เลนนาร์ด เดอ เคลิร์ก” ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีคาร์บอนชาวดัตช์ คาดว่า 12 เดือนแรกของการทำสงครามยูเครน อาจเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 120 ล้านตัน เทียบเท่ากับรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และซีเรียรวมกัน

ขณะที่สงครามในยูเครน กลายเป็นจุดสนใจของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางทหาร แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเผยแพร่ปริมาณมลพิษทางทหารเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลไขว้เขวไปจากความสำคัญในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และอาจชะลอการหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้ได้

กองทัพบางแห่ง บอกว่า การเปิดเผยข้อมูลการใช้น้ำมัน อาจสะท้อนการปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศได้

“มาร์คัส รูลเก” จากหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของกระทรวงกลาโหมเยอรมัน บอกว่า “เราไม่อยากให้ทุกคนทราบว่าเราใช้เชื้อเพลิงปฏิบัติการทางทหารมากเพียงใด เราบินหรือใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนไกลแค่ไหน  รวมทั้งไม่อยากให้รับรู้รูปแบบการซ้อมทางทหารว่าเป็นอย่างไรด้วย”