‘ฮ่องกง’สวมบทนักรบหมาป่า ขย้ำแผนปล่อยน้ำเสีย‘ฟูกุชิมะ’

‘ฮ่องกง’สวมบทนักรบหมาป่า ขย้ำแผนปล่อยน้ำเสีย‘ฟูกุชิมะ’

เมื่อรัฐบาลปักกิ่งยืนกรานควบคุมกิจการต่าง ๆ ของฮ่องกงมากขึ้น รัฐบาลฮ่องกงจึงยิ่งทำตัวไม่ต่างจาก “นักรบหมาป่า”ของจีน คอยต่อสู้และบดขยี้แผนของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะลงทะเล

จีนต่อต้านแผนปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง แม้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ไฟเขียวให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียได้ โดยรัฐบาลปักกิ่งมีดินแดนบริวารที่ช่วยทำหน้าที่ต่อต้านแผนปล่อยน้ำเสียอย่างแข็งขันนั่นคือ ฮ่องกง

“จอห์น ลี” ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ให้คำมั่นไว้เมื่อวันอังคาร (11 ก.ค.) ว่า รัฐบาลฮ่องกงเตรียมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ที่อาจรวมถึงการห้ามนำเข้าอาหารญี่ปุ่นจากหลายจังหวัด หากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียลงทะเล

ที่ผ่านมา เมื่อจีนและญี่ปุ่นมีความขัดแย้งกัน ฮ่องกงมักจะรักษาระยะห่างและให้ความสำคัญทางการค้ากับญี่ปุ่นมาโดยตลอด แต่ข้อพิพาทปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างพื้นที่ 3 แห่งนี้

เดิมฮ่องกงมีมาตรการต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กล่าวไว้ว่าจะคงมาตรการระงับนำเข้าสินค้าจากฟุกุชิมะและอีก 9 จังหวัดของญี่ปุ่น โดยฮ่องกงยังคงมีมาตรการผ่อนปรนให้กับอาหารทะเลญี่ปุ่น กล่าวคือ อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลได้ หากมีใบรับรองตรวจกัมมันตภาพรังสีที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ ดูเหมือนทางการฮ่องกงจะกลับลำ โดยลี ประกาศว่า ฮ่องกงจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า การต่อต้านแผนปล่อยน้ำเสียของฮ่องกง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่อาจมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจบางอย่าง เนื่องจากฮ่องกงเป็นเมืองที่นำเข้าอาหารญี่ปุ่นเป็นอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮ่องกงเผยกับนิกเคอิ เอเชียว่า เมื่อรัฐบาลปักกิ่งเข้ามาควบคุมกิจการต่าง ๆ ของฮ่องกงมากขึ้น รัฐบาลฮ่องกงก็ยิ่งทำตัวเหมือน “นักรบหมาป่า” ที่แสดงท่าทีต่อต้านทุกอย่างที่รัฐบาลจีนไม่เห็นด้วย

ในอดีต ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลโตเกียวที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตที่ตึงเครียด และเกิดการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในจีนแผ่นดินใหญ่ อาทิ ความขัดแย้งในปี 2555 ที่มีการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่กาะเตียวหยู ที่ญี่ปุ่นบริหารจัดการ แต่จีนอ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยูเป็นของตน และมีความขัดแย้งเกี่ยวกับข้อเสนอ ที่ให้ญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2548

ขณะที่ฮ่องกงมักยืนอยู่ข้างสนามแห่งความขัดแย้ง เนื่องจากการทูตและการป้องกันประเทศ เป็นอำนาจเด็ดขาดจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลปักกิ่ง ภายใต้ข้อตกลง “1 ประเทศ 2 ระบบ” ด้วยข้อตกลงนี้ ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงได้รับผลประโยชน์มากมาย และฮ่องกงสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าในทางปฏิบัติกับญี่ปุ่นได้ และมีภาพลักษณ์เป็นศูนย์กลางธุรกิจที่มีความเป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ทางการเมืองของฮ่องกงเปลี่ยนไปอย่างมาก ตั้งแต่มีการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 3 ปีก่อน และจำกัดคนที่ไม่เห็นด้วย ให้อยู่ห่างจากองค์กรนิติบัญญัติ
 

“นาโอโตะ นาคาฮาระ” รองกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลญี่ปุ่นในฮ่องกง เผยว่า รัฐบาลฮ่องกงพยายามทำคะแนนจากรัฐบาลปักกิ่ง

“โทรุ คุราตะ” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยริกเคียวในกรุงโตเกียว บอกว่า ฮ่องกงต่อต้านแผนปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เนื่องจากฮ่องกงเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้ง

“สูตรปกครอง 2 ระบบเริ่มเลือนหายไปภายใต้การบริหารของสี เพราะรัฐบาลฮ่องกงต้องปฏิบัติตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง” คุราตะ กล่าว

ตัวอย่างเช่น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงและสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนสำคัญ รีบออกมาประณามการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซีประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงฤดูร้อนที่แล้ว

ขณะที่ฮ่องกงมีแผนระงับนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น ธุรกิจฮ่องกงที่ซื้อขายสินค้าอาหารทะเลและอาหารอื่น ๆ ของญี่ปุ่น กำลังเผชิญกับวิกฤติเมื่อมีการระงับการนำเข้า

ธุรกิจประมงรายใหญ่ของฮ่องกง กล่าวว่า “ถ้าปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ความต้องการอาหารทะเลจะลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ข้อมูลด้านสถิติจากญี่ปุ่นเผยว่า เมื่อปี 2565 ญี่ปุ่นส่งออกอาหารไปยังฮ่องกงมูลค่า 208,600 ล้านเยน หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.6% ของรายได้จากการส่งออกโดยรวม

แม้กระบวนการตรวจสอบของศุลกากร ณ สนามบินฮ่องกง ยังคงราบรื่นในขณะนี้ และยังคงรักษาสถานะดินแดนนอกญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวที่สามารถนำปลาสด ๆ จากตลาดโตโยสุในกรุงโตเกียวช่วงเช้า มาทำซาชิมิที่ฮ่องกงได้ในวันเดียวกัน แต่ผู้บริหารธุรกิจประมงบอกว่า การตรวจสอบสินค้าในสนามบินของเจ้าหน้าที่ฮ่องกง ที่ไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากขึ้น

ด้าน ลี กล่าวเมื่อวันอังคาร (11 ก.ค.) ว่า “ผลกระทบในอุตสาหกรรมอาหารเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่มั่นใจว่าทุกคนจะเข้าใจ ว่าฮ่องกงถูกบังคับให้ตัดสินใจระงับนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น การปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การรักษาความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนว่าอาหารมีความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก"