ซัพพลายข้าวโลกจ่อตึงตัว หลังอินเดียระงับส่งออก

ซัพพลายข้าวโลกจ่อตึงตัว หลังอินเดียระงับส่งออก

ซัพพลายข้าวโลกจ่อตึงตัว หลังอินเดียระงับส่งออก และการระงับส่งออกข้าว นอกจากจะทำให้ซัพพลายข้าวทั่วโลกลดลงแล้ว ยังทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเกิดการกักตุนข้าวในตลาดโลก ซึ่งอาจทำให้ราคาข้าวยิ่งสูงขึ้นไปอีก

อินเดียระงับส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยมีผลตั้งแต่เย็นวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.) ที่ผ่านมาเป็นความพยายามของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการควบคุมราคาอาหารอีกระลอก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี อ้างอิงรายงานกระทรวงกิจการผู้บริโภค ระบุว่า การระงับส่งออกข้าวอื่นที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จะช่วยสร้างความมั่นใจว่า อินเดียจะมีข้าวเหล่านี้เพียงพอต่อการบริโภค รวมถึงบรรเทาราคาข้าวในประเทศที่แพงขึ้น

นักวิเคราะห์หลายคน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า การแบนส่งออกข้าวดังกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นขึ้นไปอีก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระงับส่งออกข้าวหักของอินเดีย เมื่อเดือน ก.ย. 2565

“อีฟ แบร์” นักเศรษฐศาสตร์อาเซียน จากโคเฟซ ธุรกิจประกันสินเชื่อการค้า บอกว่า “ซัพพลายข้าวทั่วโลก อาจตกอยู่ในภาวะตึงตัวมาก เมื่ออินเดียเป็นประเทศผลิตข้าวอันดับสองของโลก”

แบร์ เตือนว่า บังกลาเทศและเนปาลอาจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระงับส่งออกข้าวครั้งนี้ของอินเดีย เนื่องจากทั้งสองประเทศนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นอันดับต้น ๆ

โกรว์ อินเทลลิเจนท์ บริษัทวิเคราะห์การเกษตร คาดการณ์ไว้ในรายงานที่เผยแพร่ก่อนอินเดียประกาศระงับข้าวว่า การแบนส่งออกข้าวอาจทำให้ความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวอย่างหนักแย่ลงไปอีก

“ประเทศที่นำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นอันดับต้น ๆ มีทั้งบังกลาเทศ จีน และเนปาล ขณะที่เบนิน และประเทศในแถบแอฟฟริกาอื่น ๆ ก็นำเข้าข้าวจากอินเดียจำนวนมากเช่นกัน” นักวิเคราะห์จากโกรว์ อินเทลลิเจนท์ ระบุในรายงาน

จากข้อมูลของกระทรวงกิจการผู้บริโภค ระบุว่า ข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติมีสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ 25% ของการส่งออกข้าวอินเดีย

ด้าน “ราธิกา ราว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากธนาคารดีบีเอส เผยว่า ประเทศนำเข้าข้าวที่ได้รับผลกระทบ อาจหันไปหาซัพพลายเออร์อื่น ๆ ในภูมิภาคแทน อย่างเช่น ไทยและเวียดนาม
 

ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกข้าวของโลก มีสัดส่วนส่งออกข้าว 40% ของการค้าข้าวโลก และเป็นประเทศผลิตข้าวมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน

แบร์ จากโคเฟซ เตือนว่า “การระงับส่งออกข้าว นอกจากจะทำให้ซัพพลายข้าวทั่วโลกลดลงแล้ว ยังทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเกิดการกักตุนข้าวในตลาดข้าวโลก ซึ่งอาจทำให้ราคาข้าวยิ่งสูงขึ้นไปอีก”

ตอนนี้ ราคาข้าวกำลังใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะซัพพลายข้าวมีความตึงตัว เมื่อข้าวกลายเป็นวัตถุดิบที่มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะธัญพืชสำคัญอื่น ๆ ราคาพุ่งสูง หลังรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2565

ราคาข้าวสาลีแพงขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังรัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงขนส่งธัญพืชในทะเลดำ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติอาการโลก โดยการอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่ได้มีปัญหาข้าวแพงอย่างเดียว พืชผลเกษตรอื่นๆของอินเดียก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อย่างเมื่อวันที่ 19 ก.ค. กระทรวงกิจการผู้บริโภคของอินเดีย รายงานว่า ราคามะเขือเทศในอินเดียพุ่งทะยานขึ้น 341% ในปีนี้ จาก 24.68 รูปีต่อกิโลกรัม เป็น 108.92 รูปีต่อกิโลกรัมในวันอังคารนี้ (11 ก.ค.)

สถาบันการจัดการความเครียดจากปัจจัยทางชีวภาพแห่งชาติของอินเดีย ซึ่งทำการวิจัยด้านการเกษตรระบุว่า ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในรัฐสำคัญ ๆ ที่เพาะปลูกมะเขือเทศ เช่น รัฐอานธรประเทศ รัฐมหาราษฏระ หรือ รัฐกรณาฏกะ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันราคาให้สูงขึ้น

“เดเมียน โย” นักวิเคราะห์ด้านอาหารและเครื่องดื่มของบีเอ็มไอ หน่วยงานวิจัยของฟิทช์ โซลูชันส์ ระบุว่า อินเดียเป็นผู้ผลิตมะเขือเทศรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมะเขือเทศเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวอินเดีย เช่นเดียวกับหัวหอมใหญ่

สถาบันฯ ระบุว่า “เนื่องด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไปในรัฐเหล่านี้ ทำให้มะเขือเทศ รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ผลผลิตมะเขือเทศส่วนใหญ่ถูกทำลาย เนื่องจากภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม”

ผลพวงจากราคามะเขือเทศแพงที่เกิดขึ้นทำให้ร้านแมคโดนัลด์หลายแห่งในอินเดีย ตัดสินใจนำมะเขือเทศออกจากเมนู  อย่างเช่นร้านแมคโดนัลด์ในภาคตะวันตกและภาคใต้ระบุว่า “นี่เป็นปัญหาตามฤดูกาลที่ร้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญในทุกฤดูมรสุม”

โย ยังกล่าวอีกว่า  ตามปกติ ราคาของมะเขือเทศจะพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูเพาะปลูกในเดือนมิ.ย.และก.ค. ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนส.ค.

“อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนมิ.ย.และก.ค. 2566 ประกอบกับช่วงปลายมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นปี 2566 ส่งผลกระทบต่อการผลิต” โย กล่าว