คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม ป่วน'ธุรกิจ-เศรษฐกิจ'สหรัฐ
คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม ป่วน'ธุรกิจ-เศรษฐกิจ'สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่สูญเสียผลผลิตมากที่สุดคือ ภาคการเกษตรและภาคการก่อสร้าง ไม่มีอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใดที่ปลอดภัยจากอากาศร้อน แม้แต่แรงงานที่ทำงานในห้องทำงานที่ติดเครื่องปรับอากาศ
ขณะนี้เมืองฟีนิกซ์และเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐเหมือนโดนอบด้วยคลื่นความร้อน มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันหลายล้านคนเท่านั้น แต่ยังกระทบธุรกิจ ต้นทุนธุรกิจ และสร้างแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจด้วย
แม้ยังไม่มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสภาพอากาศร้อนออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน แต่ผลการศึกษาล่าสุด ที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นนำมาเผยแพร่ บ่งชี้ว่า อากาศร้อนรุนแรง อาจทำให้สหรัฐเสียค่าใช้จ่าย 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากสูญเสียผลผลิต และอาจบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 1 ใน 6 ของโลก ภายในปี 2643
“คริส ลาฟาคิส” ผู้อำนวยการจากมูดีส์ อนาลลิติกส์ บริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ ตอบกลับคำถามของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นผ่านอีเมลว่า คลื่นความร้อนสามารถทำให้ความต่อเนื่องของธุรกิจหยุดชะงัก และอาจส่งผลกระทบต่อเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค ต้นทุนพลังงานแพงขึ้น และความต้องการระบบระบายอากาศด้วยวิธีระเหยน้ำเพิ่มสูงขึ้น แรงงานหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง อาจสร้างผลผลิตได้ลดลง
มูดีส์ อนาลลิติกส์ คาดการณ์ว่า ความเสี่ยงทางกายภาพเรื้อรังจากสภาพอากาศร้อนจัด อาจบั่นทอนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก มากถึง 17.6% ภายในปี 2643
“เคธีย์ บาวแมน แมคลอยด์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมูลนิธิเอเดรียน อาชท์ ร็อกกีเฟลเลอร์ ในสภาแอตแลนติก ที่เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ มีความเห็นว่า “การสูญเสียผลิตภาพ 100,000 ล้านดอลลาร์” เมื่อปี 2564 เตือนว่า “ความร้อนจะทำลายเรา ทำให้กระบวนการคิดของเราช้าลง เราจะไม่ค่อยมีสมาธิ การทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างตากับมือจะแย่ลง เราจะเหนื่อย และทำอะไรผิดพลาด”
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมที่สูญเสียผลผลิตมากที่สุดคือ ภาคการเกษตรและภาคการก่อสร้าง และด้วยสภาพอากาศร้อนจัด ไม่มีอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใดที่ปลอดภัยจากอากาศร้อน แม้แต่แรงงานที่ทำงานในห้องทำงานที่ติดเครื่องปรับอากาศ ก็ไม่ได้หมายความว่า ขณะอยู่ในที่ทำงาน แรงงานเหล่านั้นจะเสมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หรูหราแบบในบ้าน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านการนอนจากสภาพอากาศร้อน อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า และประสิทธิภาพการทำงานในวันต่อไปลดลง
ศูนย์วิจัยอาชท์ ร็อกกีเฟลเลอร์ พยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยเงียบ หรือความเสี่ยงที่มองไม่เห็นของสภาพอากาศร้อนจัด ด้วยการทดสอบตั้งชื่อคลื่นความร้อน และสร้างระบบเตือนภัยด้านสุขภาพ และแม้หลายรัฐในสหรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย มีมาตรการปกป้องแรงงานจากความร้อนโดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่มีข้อกำหนดหรือกฎระเบียบระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้
ร้านไซเดกโค ธุรกิจฟู้ดทรัคของโทมัส ในรัฐลุยเซียนา ไม่สามารถจอดรถฟู้ดทรัคและรอลูกค้าได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ โทมัส จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยการหันไปทำธุรกิจจัดเลี้ยงแทนในช่วงนี้
ขณะที่ชุมชุนการเกษตรในเมืองโฮลท์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนียที่รู้จักกันว่าเป็น “เมืองแห่งแครอทของโลก” มีอุณหภูมิสูงเกือบ 115 ฟาเรนไฮต์ หรือราว 46 องศาเซลเซียส เมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 30 ปี 8 ฟาเรนไฮต์ แต่ “แจ็ก เวสซีย์” เจ้าของเวสซีย์แอนด์คอมปานี บริษัทเพาะปลูกและจัดส่งสินค้าเกษตร ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร
“คลื่นความร้อนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทะเลทราย” เวสซีย์กล่าว
เวสซีย์ เป็นเกษตรกรรุ่นที่ 4 ของตระกูล ทำธุรกิจอยู่ในเขตอิมพีเรียลของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเขตที่ร้อนที่สุดในภาคตะวันตกของสหรัฐ
แม้อากาศร้อนจัดไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเวสซีย์และลูกน้อง แต่ธุรกิจครอบครัว ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการเจ็บป่วยจากอากาศร้อนของรัฐอย่างเข้มงวด และหัวหน้าที่ดูแลในสถานที่เพาะปลูก คอยดูแลแรงงานเกือบ 100 คน ที่ออกเตรียมแปลงนาอย่างใกล้ชิด เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
เวสซีย์บอกว่า “น้ำแข็ง น้ำดื่มและที่ร่ม เรามั่นใจว่าได้เตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้แรงงานทุกคน เราเริ่มทำงานเช้ากว่าเดิม และพยายามทำงานให้เสร็จไวมากขึ้นเช่นกัน เราไม่อยากให้ใครล้มป่วยในที่ทำงาน”
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศในเมืองโลนสตาร์ รัฐเท็กซัส กลายเป็นฤดูร้อนที่ผ่านพ้นช้าเกินไปสำหรับบริษัท"รูเฟอร์ ชิกส์" และบริษัทอื่น ๆที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการมุงหลังคา
รูเฟอร์ ชิกส์ บริษัทรับเหมามุงหลังคาในเมืองนิวบรันเฟลส์ รัฐเท็กซัส มีงานมากมายในเดือน ก.ค. และ ส.ค. แต่งานเหล่านี้ใช้เวลาทำนานขึ้น โดยเฉพาะวันที่มีอุณหภูมิสูงถึง 100 ฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 37 องศาเซลเซียส)
“เอมี เฟลเลอร์” เจ้าของรูเฟอร์ ชิกส์ บอกว่า งานมุงหลังคาต้องแบ่งทำสองรอบ เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนและปลอดภัยจากสภาพอากาศร้อน
“เมื่ออยู่บนหลังคา อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก 20 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ฉันคิดว่าอาจจะมากกว่านั้น เมื่อหลังคามีอุณหภูมิสูงขนาดนี้ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนถูกน้ำร้อนลวก และวัสดุมุงหลังคาอาจพังได้ง่าย” เฟลเลอร์ เผย
ขณะที่ “โจชัว กราฟฟ์ ซีวิน” นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก ซึ่งเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอากาศร้อนต่อแรงงาน เตือนว่า อุณหภูมิที่สูงมากเกินไป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่อุตสาหกรรมกลางแจ้งต้องจัดการ และภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเหล่านี้ จะกลายเป็นตัวถ่วงธุรกิจและเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ
“เมื่อมองดูความร้อนที่พวกเรากำลังเผชิญ เราไม่มีเวลาเริ่มทำงานที่เร็วกว่านี้ได้อีกแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่วงเวลาการทำงาน และในที่สุด ผลผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย นี่อาจเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐ ที่จะได้เห็นจีดีพีในรายไตรมาสหรือรายปี ลดลงเล็กน้อย” ซีวิน กล่าว