ค่ายรถต่างชาติหนุน‘อาเซียน’นั่งแท่น'ฮับ'รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
ค่ายรถต่างชาติหนุน‘อาเซียน’นั่งแท่น'ฮับ'รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยเมื่อรวมยอดขายฮอนด้ากับยามาฮ่าพบว่า แบรนด์รถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น ครองตลาดรถประเภทนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสัดส่วนกว่า 90%
ฮอนด้า มอเตอร์ เตรียมเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในอินโดนีเซีย โดยมองว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเป็นผู้นำรถจักรยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าของโลกได้
“EM1 e” รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เตรียมวางจำหน่ายในญี่ปุ่นช่วงปลายเดือน ส.ค. จะกลายเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของฮอนด้าที่เข้าสู่ตลาดอินโดฯ โดยรุ่นนี้มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 300,000 เยน หรือประมาณ 73,000 บาท สามารถวิ่งได้ระยะทาง 53 กิโลเมตร
แม้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดรุ่นที่จำหน่ายในอินโดฯ แต่โฆษกฮอนด้า เรียกขานจักรยานยนต์รุ่นดังกล่าวว่าเป็น “กองหน้าสำรวจกระแสตอบรับ และความต้องการของลูกค้า ในฐานะรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในตลาดขนาดใหญ่”
ข้อมูลสมาคมอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์อินโดนีเซียระบุว่า เมื่อปีก่อน ตลาดจักรยานยนต์ของอินโดฯ มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 5.22 ล้านคัน
ฮอนด้าจะเปิดตัวรุ่นอื่น ๆ ในอินโดฯภายในปีนี้ และเปิดตัวในประเทศอื่น ๆ อีก 2 แห่งในปีหน้าด้วย และมีแผนจำหน่ายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 7 รุ่น ภายในปี 2573 โดยตั้งเป้าจำหน่ายให้ได้ปีละ 1 ล้านคัน
ฮอนด้ายังตั้งเป้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 3.5 ล้านคันทั่วโลก ภายในปี 2573 และคาดว่ายอดขาย 30% จะมาจากอินโดนีเซียและวางแผนผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นภายในช่วงกลางปี 2583
ข้อมูลจากสตาทิสตาของเยอรมนี เผยว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดจำหน่ายรถถึง 10.6 ล้านคันในปี 2565 ถือเป็นตลาดจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน ที่จำหน่ายได้ 15.5 ล้านคัน และอินเดียจำหน่ายได้ 12.63 ล้านคัน ซึ่งยอดขายในอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของยอดขายโดยรวมทั้งภูมิภาค หรือจำหน่ายได้ประมาณ 5 ล้านคัน
ทั้งนี้ ฮอนด้าถือครองส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์อินโดฯ ณ ปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน มี.ค. อยู่ที่ 88% เมื่อรวมยอดขายกับเพื่อนร่วมชาติ อย่างแบรนด์ยามาฮ่า พบว่า แบรนด์รถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น ครองตลาดในภูมิภาคในสัดส่วนกว่า 90%
“ฮิโรตากะ ยูชิดะ” หุ้นส่วนอาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติสหรัฐ ให้ความเห็นว่า “ผู้นำตลาดอย่างฮอนด้า เริ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรับมือกับคู่แข่งจากจีนและคู่แข่งในท้องถิ่น”
อย่างไรก็ตาม ฮอนด้า อาจเจาะตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของอินโดฯได้ยาก แม้จะครองตลาดจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน เพราะคู่แข่งยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเพิ่มมากขึ้น หลายบริษัทเร่งลงทุนสร้างโรงงานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากนโยบายเงินอุดหนุนสำหรับการผลิตในอินโดนีเซีย อาทิ เงินอุดหนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 7 ล้านรูเปียห์ หรือราว 15,900 บาท สำหรับแบรนด์ที่มีอัตราการผลิตในประเทศ 40% หรือมากกว่านั้น ซึ่งนโยบายนี้ประกาศใช้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่างประเทศ ยัังมีความท้าทายจาก “อิเล็กตรัม” บริษัทในเครือโกเจ็ก ธุรกิจขนส่งยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย เริ่มสร้างโรงงานผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าใน จ.ชวาตะวันตก เมื่อเดือนก่อน โรงงานดังกล่าวคาดว่า มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 คันต่อปี และมีกำหนดเสร็จสิ้นกลางปี 2567
ตามรายงานในท้องถิ่น บริษัทดังกล่าว วางแผนลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า 1,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
ด้านยาดี้ แบรนด์จักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้าตลาดอินโดฯ เมื่อเดือน ก.พ. และเริ่มผลิตแบบน็อกดาวน์ ด้วยการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มาประกอบในโรงงานหุ้นส่วน รอยเตอร์เผยว่า บริษัทดังกล่าว กำลังพิจารณาสร้างโรงงาน 1,000 ล้านดอลลาร์ ในฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มซัพพลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่โกโกโร แบรนด์จักรยานยนต์ไต้หวัน ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นตัวแทนรถจักรยานยนต์จากเทสลา ร่วมวางแผนกลยุทธ์กับโกเจ็ก และเร่งพัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอินโดฯ
นอกจากนี้ ตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ตามรอยการลงทุนในอินโดนีเซีย เช่นในเวียดนาม ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค มีวินฟาสต์ บริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นผู้นำตลาดส่งออกรถยนต์ และสตาร์ตอัปรถยนต์รายอื่น ๆ ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย มีบางจาก บริษัทน้ำมันเเอกชน และปตท. บริษัทน้ำมันรัฐวิสาหกิจ ที่ทำธุรกิจให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสตาทิสตา ระบุว่า ในปี 2565 สัดส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไม่ถึง 1%
ขณะที่ในประเทศจีน มีสัดส่วนมากถึง 20% และในอินเดีย มีสัดส่วนยานยนต์ 4% ในปี 2565 เห็นได้ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จ และราคายานยนต์ไฟฟ้า ยังคงเป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป มีราคาแพงกว่ารถจักรยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันประมาณ 30-50%
“อาคิระ มิยาโกชิ” จากองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ประจำกรุงเทพฯ ที่มีความคุ้นเคยกับตลาดรถจักรยานยนต์ แนะว่า “ในตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้ต่ำ ไม่ว่าธุรกิจจะมีความคุ้มค่าด้านต้นทุนหรือไม่ แต่กลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้า จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยสร้างความนิยมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น”