เปิดยุทธศาสตร์ ‘จีนเที่ยวจีน-สมาร์ทโฮม’ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

เปิดยุทธศาสตร์ ‘จีนเที่ยวจีน-สมาร์ทโฮม’ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

จีนออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ไม่แจกเงินสดแต่พยายามทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้จ่ายไปกับภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจจริงๆ

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน เมื่อวันจันทร์ (31 ก.ค.) รัฐบาลจีนประกาศ 20 มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว กระตุ้นการบริโภคยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้อัจฉริยะ ซึ่งหมายถึง เครื่องใช้ในครัวเรือนที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซู หงไช่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ สมาคมนโยบายศาสตร์ของจีนเผยกับซีเอ็นบีซีว่า มาตรการเหล่านี้ไม่ได้เน้นแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่เน้นซัพพลายเออร์ด้วย ในภาพรวมเพื่อทำให้ผู้คนซื้อของใหญ่ราคาแพงมากขึ้น พร้อมๆ กับแก้ไขจุดที่อ่อนแอ เช่น ในพื้นที่ชนบท

มาตรการอันดับต้นๆ คือสนับสนุนการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ เช่น รถยนต์พลังงานแบตเตอรีและไฮบริด หลังจากทางการขยายเวลายกเว้นภาษียานยนต์พลังงานใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว มาตรการเมื่อวันจันทร์ยังเรียกร้องให้ติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี และมาตรการอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายคนใช้รถอีวี รวมถึงเรียกร้องครัวเรือนจัดบ้านใหม่ให้เป็น “สมาร์ทโฮม” โดยสมบูรณ์ เช่น เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รู้จักกันในชื่ออินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง

ตลาดชนบท

มาตรการและความเห็นของเจ้าหน้าที่ตอนแถลงข่าวเมื่อดึกวันจันทร์ เน้นย้ำความจำเป็นของการกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ชนบทและในระดับตลาดขนาดใหญ่ (ตลาดแมส) มาตรการที่ออกมาจึงต้องมีการกระตุ้นการบริโภคในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการอุดหนุนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ปรับปรุงบริการส่งสินค้า และส่งเสริมการท่องเที่ยวชนบท

หลี่ ชุนหลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมาการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์ซี) ซึ่งดูแลการวางแผนเศรษฐกิจกล่าวว่า นโยบายกระตุ้นการบริโภคเริ่มต้นจากการช่วยเหลือผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ซื้อสินค้าคุณภาพสูง และหลีกเลี่ยงกลไกผิดกฎหมาย

ส่วนเรื่องรายได้ผู้บริโภคนั้น หลี่ตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ทางการจะทำให้กลุ่มประชากรรายได้ต่ำเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียด

ข้อมูลจากบอสตันคอนซัลติงกรุ๊ป ในปี 2565 พลเมืองจีน 1.4 พันล้านคนเป็นชนชั้นกลางแค่เกือบหนึ่งในสาม บริษัทนิยามชนชั้นกลางว่าหมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้หลังหักภาษีเดือนละ 9,500-29,900 หยวน (43,740-145,314 บาท) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจีนมีรายได้ต่ำกว่านั้นมาก

ข้อมูลทางการชี้ว่า รายได้หลังหักภาษีเฉลี่ยสำหรับครัวเรือนชนบทเพิ่มขึ้น 6.1% ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ระดับรายได้หลังหักภาษีที่เดือนละ 8,920 หยวน (43,351 บาท) คิดเป็นราว 40% ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเมือง โดยครึ่งแรกของปีนี้ครัวเรือนในเมืองมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้น 4.4% น้อยกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้น 5.5%

ทั้งนี้ ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคและไม่แน่ใจกับรายได้ในอนาคตส่งผลต่อยอดค้าปลีก ที่จีนหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมหลังควบคุมโควิด-19 มานานสามปี

ท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศ

นับตั้งแต่จีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดในเดือน ธ.ค.2565 การท่องเที่ยวท้องถิ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

เปิดยุทธศาสตร์ ‘จีนเที่ยวจีน-สมาร์ทโฮม’ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

การวิเคราะห์ของโนมูระชี้ว่า เที่ยวบินในประเทศ เดือน ก.ค. ฟื้นตัวจนสูงกว่าระดับปี 2562 เล็กน้อยรายได้จากการฉายภาพยนตร์สูงกว่าระดับก่อนโควิดเช่นกัน

โนมูระคาดว่า ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค.จะเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้นจาก 3.1% ในเดือน มิ.ย.

ไม่เพียงเท่านั้นมาตรการใหม่ยังกระตุ้นนายจ้างให้เพิ่มวันหยุดแบบได้ค่าจ้างและให้ประชาชนท่องเที่ยวนอกเทศกาล เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่ในจีนได้วันพักร้อนเพียงปีละไม่กี่วัน แตกต่างจากในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ที่พักร้อนได้ 2-4 สัปดาห์

ทางการกล่าวด้วยว่าจะส่งเสริมการจัดคอนเสิร์ต กีฬา และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่จีนกำลังเผชิญคือพยายามทำให้ผู้บริโภคขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากแนวทางเดิมที่ใช้การลงทุนนำการเติบโตซึ่งจีนนิยมใช้มานาน

ซูกล่าวว่า จีนต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนสมดุลเศรษฐกิจไปสู่ผู้บริโภค เช่น ธนาคารต้องเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภค เขาหวังว่า ยอดค้าปลีกตลอดปี 2566 จะเติบโตไม่ถึง 10%

ไม่แจกบัตรกำนัลเงินสด

 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันแข็งแกร่งว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่ใช้การแจกบัตรกำนัลทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภค เหมือนอย่างที่สหรัฐและฮ่องกงทำหลังโควิดระบาด

ในด้านหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า รัฐบาลไม่มีเงินมากพอแจก อีกด้านหนึ่ง หวัง จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทหัวไท่แอสเสทแมเนจเมนท์ กล่าวว่า แม้คนในรัฐบาลมีมุมมองหลากหลาย แต่ทางการจีนก็แค่ไม่คุ้นกับการแจกเงินให้ผู้บริโภคโดยตรง

“ไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์” นักเศรษฐศาสตร์รายนี้กล่าวและว่า รัฐบาลท้องถิ่นโดยเฉพาะที่สถานะการเงินดีกว่าอาจพยายามออกบัตรกำนัลกระตุ้นการบริโภคในบางรูปแบบ

มาตรการที่ประกาศออกมาเมื่อวันจันทร์ เกิดขึ้นหลังจากคณะกรมการเมือง (โปลิตบูโร) พรรคคอมมิวนิสต์ ประชุมกันเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อวางทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ สนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์และการบริโภค ซึ่งโดยปกติผู้นำจีนจะพักช่วงต้นเดือน ส.ค.

“ณ จุดนี้ สิ่งที่รัฐบาลกลางทำได้และตั้งใจทำได้ทำไปหมดแล้ว” หวังกล่าวพร้อมอธิบายว่า เศรษฐกิจจีนต้องการเวลาเยียวยาอย่างช้าๆ เขาคาดว่า ยอดค้าปลีกจะเติบโตจากปีก่อนในระดับเลขสองหลัก