อินโดนีเซียเดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย เพิ่ม‘การค้า-ลงทุน’สองชาติ

อินโดนีเซียเดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย เพิ่ม‘การค้า-ลงทุน’สองชาติ

อินโดนีเซียเดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย เพิ่ม‘การค้า-ลงทุน’สองชาติ โดยเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ การแข่งขันของมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุมเพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย

นายระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและผู้แทนถาวรประจำ UNESCAP ส่งสาส์นในโอกาสครบ รอบ78ปี วันประกาศอิสรภาพของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย วันที่ 17 ส.ค.ใจความหลักๆว่า "เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 78 ปี วันประกาศอิสรภาพของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ข้าพเจ้ามีความยินดีและขอส่งมอบความปรารถนาดีต่อชาวอินโดนีเซียทุกท่านที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจไปยังรัฐบาลและประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทยที่ร่วมอวยพรและแสดงความยินดีต่อสาธารณรัฐอินโดนีเซียในโอกาสการครบรอบวันประกาศอิสรภาพของพวกเราในครั้งนี้" อินโดนีเซียเดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย เพิ่ม‘การค้า-ลงทุน’สองชาติ

“ในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ ข้าพเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคลให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดจนขอให้รัฐบาลและประชาชานชาวไทยให้ดำรงสุขสวัสดิ์ตลอดกาลนาน”

วันประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Terus Melaju untuk Indonesia Maju” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า“เดินหน้าต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของอินโดนีเซีย”สะท้อนถึงความรู้สึกแน่วแน่ มั่นคง ตรงไปตรงมา เป็นเอกภาพ ตลอดจนการเติบโตที่มีร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ทุกองค์ประกอบในชาติร่วมกันรับผิดชอบและมีหน้าที่ในการพาอินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้าอย่างสมานฉันท์

 สำหรับอินโดนีเซีย ปีนี้ถือเป็นปีที่พิเศษเป็นอย่างมาก เนื่องจากอินโดนีเซียได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ภายใต้หัวข้อ “ASEAN Matter, Epicentrum of Growth” อินโดนีเซียต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนไปพร้อมๆ กับที่โลกมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทรรศนะทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ 

โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันของมหาอำนาจที่ยังคงเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการแข่งขันของมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุมเพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลายหรือกลายเป็นสงครามใหม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของพลวัตเหล่านี้

การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่การก่อตั้งอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มั่นคงและสงบสุข กล่าวคือเป็นหลักแห่งความมั่นคงของโลกและเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว อาเซียนต้องยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ไม่กลายเป็นตัวแทนของใคร รักษาสันติภาพภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอินโดแปซิฟิกให้กลายเป็นภูมิภาคที่สง่างาม ซึ่งเน้นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศในประชาคมอาเซียนส่งเสริมความแข็งแกร่งของกันและกันให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

           ขณะที่ข้อมูลจากสถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ระบุว่า ปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างไทยและอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมา มีไม่มากนักแต่มีการค้า การลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องหลังจากหงุดชะงักไปชั่วคราวในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19ในปี 2563 

กระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย ระบุว่า ระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ การค้าของสองประเทศมีมูลค่ารวม 9.05 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2565 ประมาณ 11.38% แต่อินโดนีเซียยังคงขาดดุลการค้ากับไทยที่ 1.62 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  และเมื่อพิจารณาโดยรวมในช่วง5ปีคือปี 2561-2565 มูลค่าการค้าระหว่าง2ประเทศเติบโตประมาณ 1.89% 

ส่วนสินค้าส่งออกและนำเข้าของสองประเทศในช่วงเดือนม.ค-มิ.ย. ปีนี้ มี5สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียคือ น้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และแร่เหล็ก/เหล็ก

ด้านการลงทุนในปีนี้ ทั้งอินโดนีเซียและไทยต่างลงทุนในกันและกันเพียงเล็กน้อย โดยสำนักงานความร่วมมือด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย หรือ BKPM รายงานว่าในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. ไทยลงทุนในอินโดนีเซีย 504 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 80.29 ล้านดอลลาร์ โดยแยกเป็นโครงการด้านเหมืองแร่ 20 โครงการ มีมูลค่ารวม 11.06 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการลงทุนสูงสุด และอีก 228 โครงการในภาคการค้า มีมูลค่ารวม 498,000 ดอลลาร์

ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย(บีโอไอ)เปิดรับการลงทุนฝหม่2โครงการจากอินโดนีเซีย มีมูลค่ารวม 36 ล้านบาทในปีนี้ 

สถานทูตอินโดฯ ยังระบุด้วยว่า ไทยและอินโดนีเซียสามารถร่วมมือกันในการพัฒนานูซันทารา เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียได้ อาทิ ร่วมมือกันด้านพลังงานหมุนเวียน,โทรคมนาคม ,ขนส่ง,ที่อยู่อาศัย ,การบำบัดน้ำเสีย ,การบริหารจัดการขยะ,การสร้างสถานพยาบาล,พัฒนาเขตอุตสาหกรรม,เทคโนโลยี,พัฒนาเมืองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์