เศรษฐกิจจีนเปราะบางกับหนทางแก้ไข
เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันดูท่าจะมีปัญหา อาจจะสะเทือนถึงความมั่นคงของจีนและภูมิภาคและอาจจะส่งผลให้ผู้นำต้องใช้วิกฤติต่างประเทศมาดึงความสนใจของประชาชน และระดมกระแสชาตินิยมเพื่อลดความกดดันภายในประเทศ
สิ่งที่วิจารณ์กันมากในระดับประชาชนทั่วไปมักวนเวียนอยู่กับเรื่องของอสังหาริมทรัพย์และ จำนวนคนตกงานในจีน
อสังหาริมทรัพย์ - สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว เจอปัญหามูลค่าลดลง 10-15%
ส่วนผู้ซื้อที่วางเงินมัดจำและรอการก่อสร้างนั้น เริ่มไม่มั่นใจว่าโครงการจะสำเร็จหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังต้องจ่ายค่าผ่อนชำระอยู่ และมีเสียงประท้วงว่า กฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคนั้นยังไม่ยุติธรรมเพียงพอ
คนว่างงานเพิ่มขึ้น - นายจ้างปลดคนงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรายได้ของบริษัทตกต่ำ โควิดล็อกดาวน์ไปสามปีและอุปสงค์จากต่างประเทศลดน้อยลง
หนุ่มสาวจบจากมหาวิทยาลัยปีละประมาณ 12 ล้านคน หางานทำไม่ได้ รายงานข่าวว่า 21% ต้องกลับไปอยู่กับผู้ปกครองหรือบางคนต้องย้ายถิ่นฐานกลับไปชนบท ต้องดิ้นรนทำมาหากินโดยที่ไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา บางคนประท้วงสังคมโดยการวางเฉยไม่ทำอะไรเลย กลายเป็นค่านิยมยุคใหม่ ดื้อเงียบ อาศัยบุพการีเป็นที่พึ่ง
ฝ่ายสถิติของรัฐบาลจีนประกาศว่าตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปจะไม่รายงานเรื่องการว่างงานอีกต่อไป เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเลขเหล่านั้นจะเป็นที่เชื่อถือได้หรือไม่ ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์โต้กลับว่ารัฐบาลปิดกั้นข้อมูลเพราะกลัวเสียชื่อ สิ่งนี้ย้ำเตือนให้เห็นถึงอำนาจรัฐที่ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนข่าวสารทุกด้าน กลายเป็นกระแสใต้ดินต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้น
ชาวจีนหลายคนกลัวโรคระบาดจะเกิดมาอีกรอบหนึ่ง เริ่มหาทางออกก่อนที่จะสายเกินไป ผิดหวังกับรัฐบาลจากกรณีโควิดที่ผ่านมา ผู้ที่มีฐานะดีบางส่วนย้ายไปอยู่สิงคโปร์ และสิงคโปร์ก็ต้อนรับเต็มที่ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ไม่ขัดขวาง เนื่องจากมีความมั่นใจว่าผลลัพธ์สุทธิจากการที่ชาวจีนระดับคุณภาพเหล่านี้ไปอยู่อาศัยในประเทศอย่างสิงคโปร์นั้น จะทำให้จีนมีเครือข่ายเพิ่มขึ้น และอาจจะเป็นการเปิดทางสร้างอิทธิพลและความศรัทธาในอาเซียน อีกทั้งสิงคโปร์เป็นสะพานเชื่อมที่ดีมากทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับกลุ่มตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ มีข่าวว่า 'ไทยก็กำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวจีน'
ส่วนผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งในจีนและต่างประเทศนั้นเตือนว่าประเด็นต่อไปนี้ต้องแก้ไขรีบด่วน
1) อุปสงค์การบริโภคลดลง เงินฝืด
ปลายปีที่แล้วแทบทุกฝ่ายประเมินว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีนี้ หลังจากยกเลิกนโยบาย "Zero Covid" แต่ครึ่งปีที่ผ่านมายอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุน ล้วนเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ ที่น่าเป็นห่วงคือกำลังการซื้อลดลง เป็นสภาวะเงินฝืด อุปสงค์ลด การฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์สะดุดลง
ออเดอร์สินค้าภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและส่งออกลดลง ทำให้ต้องลดการซื้อวัตถุดิบเข้าโรงงาน และตัดคนงานลงในอัตราส่วนที่น่าตกใจ
รัฐบาลจีนแม้หวังดีแต่อาจเลือกจังหวะผิด ช่วงโควิดออกนโยบายเข้มงวดกับการปล่อยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ หวังควบคุมการซื้อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป นโยบายนั้นทำให้ยอดขายหยุดชะงัก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หมุนเงินไม่ทัน
แถมออกนโยบายเข้มงวดด้านกฎระเบียบบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต บริษัทฟินเทค รวมทั้งการสอนหลังเลิกเรียน ซึ่งหวังดีต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชน แต่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ บางกลุ่มยังไม่เลิกแต่หาวิธีหลบลีก
2) หนี้สินต่อGDPอยู่ในสัดส่วนเขตอันตราย
อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP โดยรวมของจีนอยู่ที่ประมาณ 300% และกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและสูงเกินกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าหนี้รัฐบาลกลางของจีนจะค่อนข้างน้อยที่กว่า 20% ของ GDP แต่หนี้ในระดับรัฐบาลท้องถิ่นคาดว่าจะมากกว่า 70% ของ GDP
รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญปัญหาการเงิน หารายได้ไม่พอคุ้มค่าใช้จ่าย ต้องรีบประกาศระเบียบการใช้เงินการคลังแบบเข้มงวด โครงการหลายอย่างถูกระงับหรือเลื่อนเวลาออกไปอีก นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งยังมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ย
3) รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากให้กับหลายประเทศเพื่อสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และกำลังประสบปัญหาเรื่องโครงการเหล่านั้นไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ แต่จีนก็ไม่สามารถจะเร่งรัดหนี้หรือยึดทรัพย์สินได้เพราะเป็นโจทย์การเมือง
4) สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาระยะยาวคือเรื่องประชากร สังคมคนแก่ เด็กเกิดน้อย คนงานขาดสวัสดิการ
ชาวจีนมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น รายการข่าวล่าสุดว่าอัตราการเกิดที่แท้จริงของจีนไม่น่าจะเกิน 1.09% ซึ่งนับว่าต่ำมากเทียบเคียงกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และยังมีปัญหาเรื่องผู้ใช้แรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าเมือง มีจำนวนกว่า 290,000,000 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ยังไม่มีสวัสดิการสังคมเพียงพอ
จีนควรจะแก้ไขวิกฤตินี้อย่างไร
จีนทำมาได้ดีในอดีตและน่าจะปรับตัวให้ทันเวลาเหมาะสมกับสถานการณ์แบบใหม่ได้
1) วิกฤติหนี้ของจีนเป็น 'วิกฤติสภาพคล่อง' รัฐบาลจีนมีทรัพย์สินจำนวนมาก ควรนำมาขายเพื่อช่วยชําระหนี้
2) การออมภายในประเทศสูง หนี้ของจีนมากกว่า 95%เป็นหนี้ในประเทศ เงินฝากในประเทศคงที่ และไม่อยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ธนาคารเป็นของรัฐ ยิ่งทำให้การตัดสินใจทำได้รวดเร็วเฉียบขาด และการค้ำประกันของรัฐบาลต่อเงินฝาก รักษาเครดิตของธนาคารได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังสามารถอัดฉีดเงินทุนหรือสภาพคล่อง เพื่อสนับสนุนการดําเนินงานของระบบธนาคาร และสามารถประสานงานการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะกิจเพื่อป้องกันหนี้เสีย
3) จีนควรเพิ่มความโปร่งใสมากกว่าปัจจุบันในการค้าและระบบธนาคารกับต่างประเทศ
4) จีนควรผลักดันการปฏิรูปที่สำคัญเช่นการผลักดันการปฏิรูป SOE [รัฐวิสาหกิจ] hukou [ระบบทะเบียนครัวเรือน] และการปฏิรูปเงินบํานาญ สนับสนุนภาคเอกชนและปรับปรุงระบบการคลัง เป็นต้น
มาติดตามกันว่าที่ IMF คาดว่าการเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาสของจีนปีนี้จะฟื้นตัวเป็น 4-4.5% ในไตรมาสที่ 3และ4 ส่งผลให้การเติบโตของ GDP ประจําปีสูงถึง 5% ในปีนี้ เทียบกับปีที่แล้วที่ 3%นั้นจะเป็นจริงหรือไม่
หนทางข้างหน้าคงไม่ง่ายสำหรับผู้นำจีน และอาจมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงเช่นปัจจุบัน ปีนี้อาจเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ ปัญหาประชากรเป็นสิ่งที่จะแก้อย่างเฉียบพลันไม่ได้ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่ผลตอบแทนสูงสุดจะมาจากการที่รัฐบาลเปิดใจรับฟังคำติเตียนและคำแนะนำจากประชาชน สร้างศรัทธาด้วยการยอมรับผิดชอบกับนโยบายที่อาจเดินผิดพลาด และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเดินหน้าไปในอนาคตครับ