การเมือง ‘ไทย’ ชี้อนาคตการเข้าร่วม CPTPP
ในอนาคตโฉมหน้าการค้า-การลงทุนระหว่างกันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ถ้าสมมุติไทยเข้าร่วม CPTPP ไม่ได้ เราต้องมองหาแนวทางเข้าถึงตลาดโลก และภูมิภาคใหม่ๆ
บนความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง กรณีไทยเข้าร่วมข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าระหว่างภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เรื่องนี้มีขึ้นท่ามกลางข้อกังวลเรื่องผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ทั้งยังเกิดขึ้นในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน มาดูกันว่าการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกลุ่ม ซีพีทีพีพี สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างไร
“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "ไทยจะทันขบวนรถไฟเศรษฐกิจในเส้นทางความร่วมมือซีพีทีพีพีหรือไม่ ต้องอาศัยรัฐบาลที่ “กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว” เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่อาจตัดสินใจในเรื่องนี้ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีซับซ้อนอย่างยิ่ง"
“รอดูรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองที่สลับขั้ว หรือย้ายขั้ว จนเป็นรัฐบาลผสม เชื่อว่าเรื่องนี้จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้” เชิดชายกล่าว และมองว่า "อย่างไรก็ต้องใช้เวลา แต่ต้องไม่ไปเรื่อยๆ เพราะอย่าลืมว่า ความตกลงทุกฉบับมีความล้าสมัยของมันอยู่ อย่างซีพีทีพีพีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 นี่จะผ่านไป 4 ปีแล้ว ถ้าไทยชักเย่ออยู่แบบนี้ และถ้าสมมติรัฐบาลต่อไปอยู่ครบ 4 ปี แต่ไม่ตัดสินใจเรื่องนี้ ย่อมส่งผลต่อประเด็นความร่วมมือที่ไทยตั้งใจจะร่วมด้วย "
เชิดชายชี้ว่า ในอนาคตโฉมการค้าการลงทุนระหว่างก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ถ้าสมมุติไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีไม่ได้ ไทยต้องมองหาแนวทางการเข้าถึงตลาดโลก และภูมิภาคใหม่ๆ
“ไทยจะเข้าร่วมกลุ่มซีพีทีพีพีได้หรือไม่ ต้องเจรจากับสมาชิกซีพีทีพีพีแบบรายประเทศ ซึ่งมีความยากอยู่เดิมแล้ว เหนือความยากนี้ไปอีกคือ ต้องเจอกับเดดล็อกทางการเมืองในประเทศอีกหรือ ซึ่งผมไม่อยากให้เจอบรรยากาศแบบนั้น” เชิดชายกล่าวและย้ำว่า ขณะนี้ ไทยยังไม่ได้เริ่มกระบวนการเจรจาเข้าร่วมกลุ่มซีพีทีพีพี
สำหรับไทยยังอยู่ในขั้นตอนแรกต้องผ่านกระบวนการภายใน นั่นคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ต้องมีมติในเรื่องนี้ แล้วทางกรมเจรจาระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำความตกลงด้านการค้า ต้องจัดทำกรอบเจรจาเพื่อนำเข้า ครม. ปกติเมื่อได้ไฟเขียวจากฝ่ายบริหารแล้ว เดินหน้าเจรจาได้เลย
ส่วนขั้นตอนที่สอง ไทยยื่นหนังสือแสดงความจำนงค์ไปถึงนิวซีแลนด์ที่ทำหน้าที่เรื่องความตกลงนี้ เพื่อจะขอทำภาคยานุวัติ
“จริงๆแล้ว การจะเข้าร่วมความตกลงซีพีทีพีพีไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเริ่มต้นเจรจา เพราะประเทศสมาชิกได้เจรจาตกลงกันไปหมดแล้ว แต่การที่ไทยต้องการเป็นสมาชิก ก็ต้องขอภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้”
ขั้นตอนที่สาม เมื่อรัฐภาคีของซีพีทีพีพี 12 ประเทศ พิจารณาเห็นชอบตามคำร้องแล้ว ก็สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้ แต่กว่าจะไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ไทยต้องดีลกับรัฐภาคีของซีพีทีพีพีเป็นรายประเทศ เพราะประเทศที่เข้าไปเป็นสมาชิกแล้วจะกำหนดข้อสงวนของตนเอง หากไทยเข้าไปก็ต้องมีข้อสงวนไว้ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในอนาคตเมื่อพร้อม เช่น ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ต้องแก้กฎหมายและระเบียบให้ทันสมัยและสอดคล้องเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน
ขั้นตอนที่สี่ สุดท้ายสมาชิกซีพีทีพีพีจะตัดสินใจเชิญไทยเข้าร่วมกลุ่มหรือไม่ เมื่อถึงจุดนั้นแล้วจะมีหนังสือเห็นชอบรับเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ
ขั้นตอนที่ห้า กลับมาสู่กระบวนการภายในประเทศอีกครั้ง โดยต้องนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเพื่อแสดงความเห็นชอบหลังการเจรจาเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ เคยมีการนำกรอบเจรจาบรรจุเข้าไปในวาระที่ประชุม ครม.เมื่อเดือน พ.ค. ปี2563 แต่ปรากฏว่ากระแสโซเชียลคัดค้านรุนแรง ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ไม่กล้าเดินหน้าต่อจึงถอนวาระนี้ออก ท่ามกลางการแบ่งขั้วความเห็นต่อกรณีไทยเข้าไปเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีที่แตกต่างกัน เพราะกังวลส่งผลกระทบทางการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้นำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเป็นเวลา 120 วัน (มิ.ย. - ต.ค.ปี 2563) เพื่อให้มีการพูดคุยและถกเถียงกันมากขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างกระบวนการช่วยกันขบคิดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ