ทำไม ‘บริษัทยา’ ยอมจ่ายหลายร้อยล้าน เพื่อ ‘ทดลองยา’ บนอวกาศ
ทดลองบนโลกมันธรรมดาไปแล้ว! ขณะนี้ บริษัทยาชื่อดังหลายรายยอมทุ่มเงินหลักร้อยล้านบาทเพื่อทดลองยาบนอวกาศ อะไรเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้ผลิตยาหันมาลงทุนด้านนี้
Key Points
- ภาวะโลกร้อนทำให้โรคระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายและถี่มากขึ้น หลายประเทศจึงต้องแข่งขันกับเวลาในการพัฒนายาให้ตามทันเชื้อโรค
- MicroQuin บริษัทด้านเทคโนโลยีทางชีวภาพ ส่งยาขึ้นไปทดลองบนอวกาศ ตั้งแต่ยารักษามะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม อาการบาดเจ็บทางสมอง พาร์กินสัน และไข้หวัดใหญ่
- การทดลองยาบนสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงช่วงกลับสู่โลก มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นราว 7.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 260 ล้านบาท
หลังโลกผ่านพ้นการระบาดใหญ่โควิด-19 “ยารักษาโรค” กลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นสำหรับมนุษย์ ยิ่งโลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ยาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการบรรเทาและรักษาโรค
ข้อมูลจากสถาบันวิชาการด้านแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การแพทย์ของสหรัฐ (The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine) ระบุว่า ทุกวันนี้ ภาวะโลกร้อนทำให้โรคระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายและถี่มากขึ้น หลายประเทศจึงต้องแข่งขันกับเวลาในการพัฒนายาให้ตามทันเชื้อโรค นำไปสู่การลงทุนธุรกิจยาเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากการทดลองยาที่ปฏิบัติการบนโลกแล้ว หลายบริษัทยายอมเสียเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์เพื่อทดลองยา “บนอวกาศ” คำถามคือ ทำไมพวกเขาต้องลงทุนไปทำการทดลองถึงนอกโลก ซึ่งไม่มีออกซิเจนและขนส่งไปมาได้ลำบาก
- อวกาศ มีสิ่งที่โลกมนุษย์ให้ไม่ได้
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NASA เปิดเผยข้อมูลว่า เนื่องด้วยอวกาศเป็นสภาวะที่ไร้น้ำหนัก หรือเกือบไร้น้ำหนักหากอยู่ในวงโคจรดาวเทียม และได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์มากกว่าในโลก สภาพแวดล้อมเช่นนี้ จึงช่วยทำให้ยาที่ผลิตออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดบริษัทสตาร์ทอัพอวกาศ สัญชาติสหรัฐขึ้นมา ที่ชื่อว่า “Varda Space Industries” คว้าโอกาสนี้ด้วยการเปิดธุรกิจทดลองยาบนอวกาศขึ้น ซึ่ง Merck บริษัทยาของเยอรมนีให้ความสนใจด้วย
การขนส่งยาของบริษัท Varda ขึ้นไปทดลองบนอวกาศ เริ่มจากนำยาทดลองเก็บในยานแคปซูล รวมน้ำหนัก 90 กิโลกรัม บรรทุกไปกับดาวเทียมบริษัท จากนั้นก็ใช้บริการจรวดขนส่งของ SpaceX บริษัทสำรวจอวกาศชื่อดัง เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไปลอยรอบโลกในวงโคจรดาวเทียม
- ยานแคปซูล Varda ที่ติดกับดาวเทียมบริษัท (เครดิต: Varda) -
เมื่อรวมน้ำหนักยานแคปซูลกับดาวเทียมของบริษัท Varda ที่ส่งขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัม และมีค่าขนส่งผ่านบริษัท SpaceX อยู่ที่ไม่ถึง 2 ล้านดอลลาร์
ระหว่างที่ลอยเป็นเวลาหลายวันหรือหลายเดือน หุ่นยนต์ในยานแคปซูลซึ่งถูกควบคุมจากในโลกก็จะทดลองยานี้แทนมนุษย์ และเมื่อถึงเวลากลับโลก ยานแคปซูลก็จะแยกตัวจากดาวเทียม และตกลงสู่โลกด้วยความเร็วมากกว่า 30,577 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมสลัดร่มชูชีพออกเพื่อร่อนลงสู่พื้นโลก
- ยานแคปซูล Varda เมื่อแยกตัวจากดาวเทียมบริษัทแล้ว และตกลงสู่โลก (เครดิต: Varda) -
- การทดลองครั้งแรก ที่ต้องลุ้นกับความเสี่ยง
การทดลองของบริษัท Varda นี้นับเป็นครั้งแรกของบริษัท โดยปล่อยยานสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 จากฐานปล่อยในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ ผลลัพธ์ออกมาสำเร็จ ยานทดลองสามารถลอยในวงโคจรดาวเทียมได้
อย่างไรก็ตาม บริษัท Varda กลับเผชิญความท้าทายช่วงกลับสู่โลก เพราะยานต้องเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกจนเป็นความร้อนสูง กลายเป็นความกังวลว่า ยาทดลองที่กลับมาจะยังคงอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่
“บางทีโอกาสสำเร็จอาจน้อยกว่า 90% แต่ก็สูงกว่าการโยนเหรียญหัวก้อย และผมคิดว่า นี่เป็นคำตอบที่ตรงไปตรงมามากที่สุด” วิล บรูอีย์ (Will Bruey) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท Varda กล่าว
บรูอีย์เสริมอีกว่า “การให้บริการทดลองยาบนอวกาศ แม้ไม่ได้เป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดเท่าธุรกิจท่องเที่ยวทางอวกาศ แต่จะเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต และพวกเราจะสร้างกำไรจากธุรกิจนี้ได้”
- หลายบริษัทต่างวิจัยยาบนอวกาศ
สำหรับยาทดลองในภารกิจแรกของบริษัท Varda คือ การวิจัยยาต้านเชื้อ HIV ที่ชื่อ Ritonavir และยาเม็ดรักษาโควิด-19 อย่าง Paxlovid ของ Pfizer บริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ โดยเมื่อทดลองปลูกผลึกโปรตีนบนอวกาศเพื่อผลิตยา พบว่ามีการดูดซึมที่ง่าย และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพกว่าบนโลก
Varda ได้ลงทุนกับการทดลองยาบนอวกาศทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างยาน จนถึงการส่งยานขึ้นไปอวกาศ อยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์หรือราว 1,400 ล้านบาท และบริษัทยังคงมีเงินสำรองเพียงพอสำหรับการทดลองอีก 3 ครั้ง ในกรณีการทดลองครั้งนี้ไม่สำเร็จ
นอกจากการทดลองยาในยานแคปซูลของ Varda แล้ว ยังมีการทดลองยาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งยาที่ทดลองเป็นของ Merck บริษัทยาแห่งเยอรมนี และ Bristol Myers Squibb บริษัทยาแห่งสหรัฐ ทำการทดลองโดยเหล่านักบินอวกาศ ซึ่งยาที่ทดลอง เช่น ยารักษามะเร็งที่ชื่อ Pembrolizumab (Keytruda)
- สถานีอวกาศนานาชาติ (เครดิต: NASA) -
บริษัท SpacePharma เป็นอีกหนึ่งบริษัทด้านการวิจัยยาในสภาวะอวกาศ และส่งยาขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดย ยอซซี ยามิน (Yossi Yamin) ซีอีโอของบริษัท SpacePharma กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่นิยายทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เมื่อปีที่แล้ว พวกเราประสบความสำเร็จในการทดลองยาบนอวกาศ เราได้ทดลองยายืดอายุขัยและยารักษาโรคทางสมอง”
นอกจากนี้ MicroQuin บริษัทด้านเทคโนโลยีทางชีวภาพ ก็ส่งยาขึ้นไปทดลองบนอวกาศ โดยทดลองตั้งแต่ยารักษามะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม อาการบาดเจ็บทางสมอง พาร์กินสัน และไข้หวัดใหญ่
แม้หลายบริษัทยาจะมุ่งหันมาทดลองยาบนอวกาศ แต่มาพร้อมกับความท้าทายด้านค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยตั้งแต่การทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงช่วงกลับมายังโลก มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นราว 7.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 260 ล้านบาท
นอกจากนี้ NASA แถลงว่า จะยุติการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2573 และบังคับให้สถานีฯ ตกกลับสู่พื้นโลกในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อถ่ายโอนภาระด้านอวกาศจาก NASA ไปสู่การเปิดเสรีเชิงพาณิชย์ให้บริษัทเอกชนแทน ซึ่งบริษัทเอกชนที่จะมาแทนที่คือ Axiom Space บริษัทสถานีอวกาศ สัญชาติอเมริกัน
กล่าวโดยสรุป คือ จากความก้าวหน้าทางอวกาศ ทำให้การเดินทางระหว่างโลกสู่อวกาศง่ายขึ้น บรรดาบริษัทยาจึงใช้โอกาสนี้ส่งยาขึ้นไปทดลองในวงโคจรดาวเทียมบนอวกาศ ที่มีสภาวะแวดล้อมเป็นแรงโน้มถ่วงอย่างอ่อนและเกือบไร้น้ำหนัก ซึ่งเอื้อให้การทดลองเกิดประสิทธิภาพและมีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าบนโลก
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง และมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการนำยาขึ้นสู่อวกาศและตกสู่พื้นโลก จึงยังคงต้องติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิดนี้ต่อไป
อ้างอิง: nationalacademies, varda, nasa, cnn, cnbc, theguardian