คนรักซูชิ ‘ชาวจีน’ เสียดายรสชาติปลา ‘ญี่ปุ่น’ ทั่วโลกผวา อาหารทะเลแพง

คนรักซูชิ ‘ชาวจีน’ เสียดายรสชาติปลา ‘ญี่ปุ่น’ ทั่วโลกผวา อาหารทะเลแพง

โซเชียลจีนวิจารณ์แรง ‘ญี่ปุ่น’ ปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะ ปลุกกระแสไม่กินปลานำเข้าญี่ปุ่น อาจเบนเข็มไปชิงตลาดนำเข้าจากประเทศอื่น เสี่ยงราคาทั่วโลก ปรับแพง

โฮ นักชิมชาวฮ่องกง ให้สัมภาษณ์บีบีซี ขณะยืนอยู่หน้าร้านอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นเจ้าประจำว่า “ฉันจะกินอาหารทะเลจากญี่ปุ่นต่อไป” ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในชาวฮ่องกงที่แห่ไปร้านอาหารญี่ปุ่น เพื่อกินซูชิ และซาซิมิในช่วงที่ผ่านมา เพราะเหมือนรู้ว่าจีนมีแผนประกาศหยุดนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

อาหารทะเลญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองนี้มายาวนาน แต่อาจต้องคิดใหม่ เพราะญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

คนรักซูชิบางคนถึงกับโอดครวญ หรือนี่เป็นคำสุดท้ายได้ลิ้มลองรสชาติปลานำเข้าจากญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลแล้วในวานนี้ (24 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยได้สูบน้ำส่งผ่านอุโมงค์ใต้ดินไปยังมหาสมุทร ท่ามกลางเสียงไม่พอใจของเพื่อนบ้านอย่างจีน 

หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานศุลกากรจีนประกาศว่า คำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ และบางจังหวัดของญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้น จะขยายพื้นที่ออกไปจนครอบคลุมทั้งประเทศญี่ปุ่นเพื่อ “สุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน” 

ท่ามกลางความคาดหวังว่า ฮ่องกงจะปฏิบัติตามคำสั่งนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นี่คงเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน 

รู้หรือไม่ว่า จีน และฮ่องกงนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่น มีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี 

โซเชียลมีเดียในจีนได้โพสต์ข้อความแสดงห่วงกังวลต่อการปล่อยน้ำเสีย บางคนเกรงว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวกับปลาสดที่ส่งไปยังร้านอาหารทั่วโลก

เหนือไปกว่าปลานำเข้าจากญี่ปุ่นมีความปลอดภัย ได้เกิดคำถามขึ้นว่า กระแสน้ำในมหาสมุทรได้ไหลเวียนไปทั่วโลก แล้วคนทุกภูมิภาคจะได้รับผลกระทบหรือไม่ 

แน่นอน ตั้งแต่ปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีแผนรับมือกับปัญหาที่จะตามมาไว้แล้ว ซึ่งจะดำเนินนโยบายอุดหนุนสินค้าประมงของชาวญี่ปุ่น หากเกิดเหตุฉุกเฉินหลังได้ปล่อยทิ้งน้ำในมหาสมุทรตามแผน และมีเสียงตอบรับในทางลบ 

เจแปนไทมส์ รายงานว่า ทางการกำลังจัดตั้งกองทุนนำไปใช้แก้ไขสถานการณ์อาหารทะเลอย่างยืดหยุ่นจากฟุกุชิมะและจังหวัดอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกต้องระวังหากตลาดจีนชิงส่วนแบ่งนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศต่างๆ จะส่งผลต่อราคาอาหารทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์