ส่อง“อำนาจ” พาสปอร์ต ‘ไทย’ ในเวทีโลก ปรับตัวดีขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่แล้ว

ส่อง“อำนาจ” พาสปอร์ต ‘ไทย’ ในเวทีโลก ปรับตัวดีขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่แล้ว

“69” เป็นลำดับประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ “อำนาจพาสปอร์ต" หรืออำนาจหนังสือเดินทาง 199 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ของ Henley Passport Index (HPI) ซึ่งว่า อำนาจหนังสือเดินทางของไทย ปรับตัวดีขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่แล้ว

HPI เป็นดัชนีที่ Henley & Partners บริษัทให้คำปรึกษาด้านการย้ายถิ่นที่อยู่ จัดทำมา 18 ปีแล้ว โดยอ้างอิงข้อมูลหลักๆ จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ไออาต้า (IATA) 

ในปีนี้ HPI อธิบายว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตไทยสามารถเข้าได้ 79 ประเทศ/ดินแดน จากทั้งหมด 227 แห่ง โดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือไปขอวีซ่า เมื่อเดินทางถึงปลายทางได้ (Visa on arrival - VOA)  

สำหรับภูมิภาคอาเซียน ไทยอยู่ลำดับที่ 4 ซึ่งประเทศที่มีอันดับดีกว่าไทย คือ “สิงคโปร์” อยู่ที่อันดับ 1 (เข้าได้ 193 ประเทศ/ดินแดน) มาเลเซีย อันดับ11 (เข้าได้183ประเทศ/ดินแดน) และบรูไน อันดับ21 (เข้าได้167 ประเทศ/ดินแดน) 
 

ส่วนอีก 6 ประเทศที่มีอันดับต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย อันดับ74 (เข้าได้73ประเทศ/ดินแดน) ฟิลิปปินส์ อันดับ79 (เข้าได้66ประเทศ/ดินแดน) เวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีอันดับเท่ากัน อันดับ87 (เข้าได้55ประเทศ/ดินแดน) และเมียนมา อันดับ93 (เข้าได้47ประเทศ/ดินแดน)

หากนับรวมติมอร์-เลสเต ว่าที่สมาชิกใหม่ของอาเซียนไปด้วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า อยู่ในลำดับที่ “ดีกว่า” ไทย คืออันดับที่ 61 เข้าได้ 94 ประเทศ/ดินแดน  

แต่มีข้อสังเกตและข้อมูลสำคัญบางประการ อยากให้สาธารณชนไทยได้ทราบดังนี้
ประการแรก จำนวน 79 ประเทศ/ดินแดนที่ HPI ใช้อ้างอิงว่า พาสปอร์ตไทยสามารถเข้าได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่าหรือไปขอ VOA นั้น เป็นข้อมูลคนละชุดกันกับข้อมูลของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวน 43 ประเทศ/ดินแดน แบ่งเป็นไม่ต้องขอวีซ่า 34 และขอ VOA ได้ 9 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะกระทรวงการต่างประเทศนับเฉพาะข้อมูล “ทางการ” ที่ได้จากการติดต่อกับฝ่ายต่างประเทศ

ประการสอง การเพิ่มอำนาจให้พาสปอร์ตไทยเป็นนโยบายที่ทั้งรัฐบาลชุดนี้และชุดใหม่ให้ความสำคัญ โดย “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ในฐานะที่ “การเพิ่มจำนวนประเทศที่ผู้ถือพาสปอร์ตไทยสามารถเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือขอ VOA ได้” เป็นตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ แผนย่อย การส่งเสริมสถานะและเกียรติภูมิของไทยในเวทีโลก 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลใหม่ ก็มีนโยบายในเรื่องนี้ว่าจะ “พาคนไทยเดินทางไปได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า"  

ในฐานะนักการทูตฟังนโยบายเช่นนี้ ก็อดดีใจไม่ได้ว่า ไทยคงจะใช้ “หลักประติบัติต่างตอบแทน” มากขึ้นจากที่ผ่านมาที่มักเป็นฝ่ายเดียวที่ให้สิทธินักท่องเที่ยวหลายประเทศเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า  แต่กว่านักท่องเที่ยวไทยจะเข้าประเทศนั้นๆ ได้ ก็ต้องง่วนอยู่กับการขอวีซ่าและค่าใช้จ่ายที่สูง

ประการสาม กระทรวงการต่างประเทศกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจัดทำแผนงานแล้ว และจะหยิบยกประเด็นขอยกเว้นวีซ่าหรือขอให้คนไทยสามารถขอ VOA ได้กับประเทศใดบ้าง ทั้งกับประเทศที่ไทยได้ให้สิทธิเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าฝ่ายเดียวอยู่แล้ว และกับประเทศใหม่ๆ ที่ไทยจะเปิดการเจรจาด้วยหลักต่างตอบแทน

ประการสี่ สุดท้ายต้องยอมรับว่า การที่ประเทศต่างๆ จะยอมรับพาสปอร์ตไทยมากขึ้น มีความเชื่อมโยงอย่างเลี่ยงไม่ได้กับปัญหาการลักลอบทำงานในต่างประเทศหรือการอยู่เกินกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตของคนไทยส่วนหนึ่ง

ดังนั้น การจะเพิ่มอำนาจให้พาสปอร์ตไทยจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยทุกคนและทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายในต่างประเทศ และการยึดมั่นในหลักต่างตอบแทนที่กล่าวถึงข้างต้น