กรณีศึกษา ข้อพิพาท Meta VS. แคนาดา | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เมื่อกลางเดือน ส.ค. จนถึงช่วงสัปดาห์ก่อน เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในแคนาดา ประชาชนกว่า 20,000 คนในมลรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจำต้องอพยพหนีไฟป่า
ประเด็นสำคัญของข่าวนี้กลับไม่ใช่เรื่องของไฟป่า แต่เป็นเรื่องของการกระจายข่าวสารบนโซเชียลยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Instagram ซึ่งเป็นของบริษัท Meta ที่มีมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook เป็นซีอีโอและผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ทั้ง Facebook และ Instagram ได้ปิดกั้นข่าวสารเรื่องไฟป่าบนแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อเป็นการตอบโต้ Bill C-18 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ของแคนาดาที่จะเรียกเก็บภาษีจากลิงก์ข่าวที่ Meta ไปดึงหรือแชร์มาจากสำนักข่าวของแคนาดา เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสื่อของแคนาดา
ถึงแม้กฎหมายใหม่ที่เพิ่งผ่านสภาในเดือน มิ.ย. จะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า แต่ Meta ก็ได้ปฏิบัติการปิดกั้นข่าวสารแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเกิดไฟป่าขึ้นมีการร้องขอจากฝ่ายการเมืองและสื่อในแคนาดาเพื่อให้ Meta เป็นอีกหนึ่งในกระบอกเสียงในการกระจายข่าวสารเตือนภัยเกี่ยวกับไฟป่าและการอพยพ แต่ก็ไม่เป็นผล
กรณีศึกษาการงัดข้อระหว่าง Meta กับรัฐบาลแคนาดาจึงน่าสนใจและควรจับตามองอย่างยิ่ง เพราะในเชิงธุรกิจแล้ว Meta มีสิทธิถูกต้องทุกประการในการจัดการแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ในทางศีลธรรมแล้วนั้น การกระทำเช่นนี้ถือเป็นที่น่ากังขาและสมควรถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมอย่างยิ่ง
นักการเมืองแคนาดาไล่มาตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้ออกมาประณามการกระทำของ Meta และพูดไปจนถึงว่าการกระทำเช่นนี้นั้นเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย ทำลายวงการสื่อสารมวลชน และเป็นเชื้อเพลิงในการลุกลามของการปล่อยข่าวปลอม
ถึงแม้ว่าทางการจะมีความพยามยามในการเผยแพร่ข่าวสารในสื่ออย่างวิทยุและโทรทัศน์ แต่เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนผู้บริโภคสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนพูดถึงการประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่ไม่ทั่วถึงนี้ ก็เป็นเพราะไม่มีข่าวสารใน Facebook หรือ Instagram ทั้งการติดตามหาข่าวสารนั้นก็มีความยากขึ้นในแพลตฟอร์มเหล่านี้ที่ประชาชนมีความคุ้นชินใช้งานอยู่ทุกวัน
กรณีศึกษานี้แท้จริงแล้ว ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Meta กับรัฐบาล ล่าสุด Meta ได้เพิ่งถูกศาลยุโรปสั่งปรับเงินเป็นจำนวน 1,200 ล้านยูโร ในฐานกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายความเป็นส่วนตัวในการโอนถ่ายข้อมูลของผู้บริโภคไปยังบริษัทแม่ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐ
ขณะที่การปรับเงินครั้งนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ Meta มีกับสหภาพยุโรป ซึ่งปัญหาที่ Meta มีกับรัฐบาลต่างประเทศส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการปันรายได้จากแพลตฟอร์ม ทั้งในการแชร์ข่าวสาร หรือรายได้อื่น ๆ อาทิ ค่าโฆษณา เป็นต้น
ปัญหาทำนองเดียวกับแคนาดานี้ก็เคยมีคำเตือนจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ถึงรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งประมาณการรายได้ของ Meta จากเนื้อหาของสำนักพิมพ์/ข่าว สัญชาติอังกฤษที่อาจสูงถึง 235 ล้านปอนด์ จากรายได้รวมธุรกรรมทั้งหมดในอังกฤษที่ 5,300 ล้านปอนด์ในปี 2564
ไม่รู้ว่าจะเป็นโชคดีหรือร้ายของประเทศไทยเราที่ไม่มีปัญหานี้ เพราะทั้งกฎหมายและพลังการต่อรองของเรายังไม่แข็งแรงและก้าวหน้าพอที่จะปกป้องสิทธิของพลเมืองและผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างที่แคนาดาและสหภาพยุโรปกำลังต่อสู้กับ Meta อยู่