วัดน้ำยารัฐบาลจีน แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผล
ข้อมูลล่าสุดจากจีน ชี้ว่าการส่งออกลดลง โหมกระพือความกลัวมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองและต้องฟื้นตัวให้ได้หลังโควิด กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว
เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) กรมศุลกากรจีนเผยแพร่ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของจีนลดลงอีกครั้งในเดือน ส.ค. เพิ่มแรงกดดันให้ทางการต้องใช้มาตรการกระตุ้นชุดใหม่ การนำเข้าลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. เนื่องจากผู้บริโภคลังเลจะใช้จ่าย ขณะที่ราคาผู้บริโภคประจำเดือน ก.ค.ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองปี ส่วนการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมานาน เดือน ส.ค.ลดลง 8.8%
รัฐบาลและตลาดต่างกังวลต่อตัวชี้วัดเหล่านี้ ด้วยขนาดของเศรษฐกิจจีนและความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของโลกย่อมหมายความว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจีนจะขึ้นหรือลงย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมปัญหาที่เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังเผชิญ และทำไมนักวิเคราะห์จึงเชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งยังแก้ไขปัญหาได้ไม่มากพอ
สาเหตุความต้องการชะลอตัว
ตอนที่จีนยกเลิกข้อจำกัดคุมโควิดอย่างเข้มงวดในเดือน ธ.ค.2565 กิจกรรมของผู้บริโภคค่อยๆ ฟื้นคืนมา เมื่อประชาชนเริ่มออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ชอปปิง และใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดหวังกันมากกลับต่ำกว่าคาด และไม่ได้ฟื้นทุกภาคส่วน เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นและสิ่งที่เคยรุ่งเรืองยุคหลังโควิดตอนนี้สูญสิ้นแรงส่งอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงที่เขตเศรษฐกิจใหญ่กำลังต่อกรกับเงินเฟ้อ ราคาผู้บริโภคในจีนกลับลดลง 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือน ก.ค.เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าความต้องการซบเซา
การว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นมาสูงมากในเดือน มิ.ย. จนทางการต้องระงับการเผยแพร่ข้อมูล ขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตแบบเดิม เช่น การส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคยังคงสะดุด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า แนวโน้มนี้เพิ่มขึ้นทุกขณะทำให้เป้าหมายเศรษฐกิจจีนโตราว 5% ต่อปีดูจะไกลเกินเอื้อม
สาเหตุเศรษฐกิจขาลง
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจจีนมาหลายปี สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้จีนมหาศาล แต่ภาคส่วนนี้กำลังวิกฤติหนัก
บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำหลายราย อาทิ เอเวอร์แกรนด์และคันทรีการ์เดนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเงินอย่างรุนแรง มีหนี้สินระดับมหาศาลเสี่ยงล้มละลาย
หากมีบริษัทใดล้มลงย่อมส่งผลกระทบใหญ่หลวงเข้าขั้นหายนะไปถึงระบบการเงินของจีนต่อเนื่องไปถึงบ้านสร้างไม่เสร็จอีกมากมาย การลดคนงานครั้งใหญ่ ประชาชนหลายหมื่นคนสูญเงินเปล่าเรียกคืนไม่ได้ ที่แน่ๆ ความผันผวนในภาคอสังหาฯ ยิ่งทำให้ผู้ซื้อลังเล เพิ่มแรงกดดันการเงินบริษัทอสังหาฯ มากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบจากความต้องการในตลาดโลกซบเซา ฉุดรั้งการส่งออกของจีนรวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในประเท
การแก้ปัญหาของรัฐบาล
ด้วยความกังวลต่อสถานะการเงิน จีนเลือกใช้มาตรการอย่างระมัดระวังและมีเป้าหมาย แทนการใช้แผนฟื้นเศรษฐกิจแบบกว้างๆ แต่เสียค่าใช้จ่ายมหาศาลอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายรายแนะนำ
ทางการเผยมาตรการในเดือน ก.ค. พุ่งเป้ากระตุ้นกำลังซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและยานยนต์ไฟฟ้า ตามด้วยการลดหย่อนภาษีครัวเรือนและภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางธุุรกิจให้มากขึ้นไปอีก เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางจีนเพิ่งลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสองตัว หวังกระตุ้นธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากขึ้นในเงื่อนไขที่น่าสนใจกว่าเดิม แต่คำประกาศที่สำคัญที่สุด เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังร่อแร่ของจีน ประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูภาคส่วนนี้ หลายเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ผ่อนคลายเกณฑ์การขอสินเชื่อจดจำนอง ผู้ซื้อบ้านหลังแรกได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกว่า
มาตรการรัฐเพียงพอหรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนไม่แน่ใจกับมาตรการของรัฐ
“เศรษฐกิจไม่มีทางฟื้นตัวแน่ถ้าตลาดอสังหาฯ ไม่ดีขึ้น” บริษัทวิจัย “เกฟคาล ดราโกโนมิก” ส่งเสียงเตือน
ขณะที่อาร์เธอร์ พุทธคยัน ผู้ติดตามเศรษฐกิจจีนจากบริษัทบริษัทบีซีเอรีเสิร์ช รายงานว่า ขณะนี้ “ครัวเรือนลังเลจะกู้ยืมหรือซื้อที่อยู่อาศัยแม้อัตราดอกเบี้ยจำนองลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปีแล้วก็ตาม”
นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนพื้นฐานของสถานการณ์ “เพราะตอนนี้ครัวเรือนหวังว่าราคาบ้านจะลดลงกว่านี้อีกมาก”
ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนมีทัศนคติว่าการซื้ออสังหาฯ เป็นวิธีเพิ่มเงินออมที่ดีที่สุด แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในวงกว้างยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้การบริโภคไม่ฟื้นตัว
สอดคล้องกับแม็กกี เหว่ย นักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์
“ตอนนี้ครัวเรือนชอบออมมากกว่าใช้จ่ายหรือลงทุน”
ความจำเป็นของมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเสนอว่า จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ เพื่อดึงเศรษฐกิจจีนให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง
ช่วงวิกฤติการเงินโลกเมื่อปลายทศวรรษ 2000 จีนลงทุน 4 ล้านล้านหยวน (5.48 แสนล้านดอลลาร์ในวันนี้) เพื่อช่วยเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอันกว้างขวางนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างใหญ่โต ทั้งการตัดถนน สร้างสนามบิน และรถไฟความเร็วสูง แต่อีกมุมหนึ่งหลายโครงการไม่ได้ใช้งานเต็มศักยภาพและสร้างหนี้สิน
ตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาลปักกิ่งระวังกับการใช้ยุทธศาสตร์แบบเดิม เนื่องจากงบประมาณรัฐบาลท้องถิ่นร่อยหรอเต็มทีจากโควิด-19 ระบาด
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่คัดค้าน “ลัทธิสวัสดิการ” แบบตะวันตกลังเลจะกลับไปใช้วิธีจ่ายเงินก้อนโตในเวลาที่จีนจำเป็นต้องรัดเข็มขัด