ปิดประชุม'ซัมมิตจี20' สะท้อน'ความสำเร็จ'อินเดีย-'ชัยชนะ'ของรัสเซีย
การประชุมจี20 นานสองวันที่อินเดียปิดฉากลงแล้ว โดยออกแถลงการณ์ร่วมที่กล่าวถึงประเด็นสงครามในยูเครนได้สำเร็จอย่างผิดคาด แม้ไม่มีการประณามรัสเซียโดยตรง แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จทางการทูตของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และชัยชนะของรัสเซีย
Key Points
- แถลงการณ์ร่วมไม่ประณามรัสเซียโดยตรง แต่ถือเป็นความสำเร็จทางการทูตของโมดี และชัยชนะของรัสเซีย
- เป็นก้าวสำคัญในการแสดงบทบาทการเป็นประธานของอินเดีย และยืนยันว่าจี20ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้
- 'โมดี'ตั้งพันธมิตรเชื้อเพลิงชีวภาพโลก เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องปริมาณสำรองเชื้อเพลิงชีวภาพและราคาที่จ่ายได้
- สหรัฐ, อินเดีย, ซาอุดิอาระเบีย ,และอียู ประกาศข้อตกลงสร้างรถไฟ-ท่าเรือเชื่อมภูมิภาคตะวันออกกลางกับภูมิภาคเอเชียใต้
- รับสหภาพแอฟริกาเป็นสมาชิกถาวiจี20 หวังผลักดันสู่การจัดระเบียบโลกใหม่
- ปธน.บราซิลรับไม้ต่อเป็นประธานปีหน้า เตรียมเชิญ'ปูติน'เข้าร่วมประชุมที่นครริโอ เด จาเนโร
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ส่งค้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของประธานแก่ประธานาธิบดีลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ที่จะเป็นประธานกลุ่มจี20 ในปี 2567 ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่กรุงนิวเดลีเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) หลังจากผู้นำกลุ่มจี20 สามารถออกแถลงการณ์ร่วมด้วยมติเอกฉันท์ในวันแรกของการประชุมเมื่อวันเสาร์(9ก.ย.)
เนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับสงครามยูเครน แม้ก่อนหน้านี้ถูกจับตาว่าอาจไม่สามารถออกแถลงการณ์ได้เพราะชาติสมาชิกมีจุดยืนเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างมาก
แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ทุกชาติเคารพหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง บูรณภาพทางดินแดนและอธิปไตย, กฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และระบบพหุภาคีที่คุ้มครองสันติภาพและเสถียรภาพ
แม้แถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกชาติต้องละเว้นการข่มขู่หรือการใช้กำลังเพื่อยึดดินแดน แต่ไม่มีถ้อยคำประณามหรือระบุถึง รัสเซีย ที่เปิดฉากสงครามในยูเครน ทำให้ยูเครนบอกว่า แถลงการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ แต่'เซอร์เก ลาฟรอฟ' รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ที่เข้าร่วมการประชุมแทนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แถลงในวันอาทิตย์ว่า ผลการประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และขอบคุณชาติในกลุ่มประเทศโลกใต้ ที่รักษาจุดยืนอย่างเข้มแข็งในเรื่องยูเครน และนักการทูตรัสเซีย บอกว่า แถลงการณ์มีเนื้อหาที่มีความสมดุล
การเจรจาต่อรองเรื่องแถลงการณ์ถือเป็นความสำเร็จของอินเดียที่สามารถผลักดันให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกัน โดยได้ความช่วยเหลือจากบราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย ในการไกล่เกลี่ยกับฝ่ายชาติตะวันตก และฝ่ายจีนและรัสเซีย
"เจค ซัลลิแวน" ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญของบทบาทการเป็นประธานของอินเดีย และเป็นการลงมติไว้วางใจว่า กลุ่มจี20 สามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี บอกว่า เป็นความสำเร็จทางการทูตของอินเดีย
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน มีความเห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นชัยชนะของรัสเซีย และบางคนมองว่า เป็นความสำเร็จของชาติตะวันตก แต่ส่วนใหญ่บอกว่า เป็นชัยชนะของนโยบายการทูตของโมดีที่พยายามสร้างอิทธิพลของอินเดียในเวทีโลก
ในการประชุมครั้งนี้ ไม่มีทั้งประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเข้าร่วม โดยจีนส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนเข้าร่วมแทน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ หวังใช้โอกาสนี้สนับสนุนบทบาทของอินเดียในฐานะผู้นำโลกอีกประเทศหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีโมดี กล่าวในการประชุมเมื่อวันเสาร์โดยเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกร่วมกันยุติ “วิกฤตขาดดุลความไว้วางใจ” และร่วมมือกันเพื่อหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับปัญหาทั้งหลายทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก จนถึงการก่อการร้าย และความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
นอกจากนี้ โมดียังประกาศตั้งพันธมิตรเชื้อเพลิงชีวภาพโลก เพื่อหวังสร้างความมั่นใจเรื่องปริมาณสำรองเชื้อเพลิงชีวภาพและราคาที่สามารถจ่ายได้ และส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ขณะที่สหรัฐ อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และสหภาพยุโรป (อียู)ร่วมกันประกาศข้อตกลงสร้างรถไฟและท่าเรือเชื่อมระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชียใต้ โดยข้อตกลงนี้มีขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประธานาธิบดีไบเดน พยายามจะแข่งขันกับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ที่เป็นโครงการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของโลก
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป หรือ IMEC ได้รับการลงนามโดยสหภาพยุโรป อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สหรัฐ และชาติอื่น ๆ ในจี20 และ IMEC จะประกอบด้วยระเบียงตะวันออกที่เชื่อมอินเดียกับอ่าวอาหรับ และระเบียงเหนือที่เชื่ออ่าวอาหรับกับยุโรป
ข้อตกลงนี้จะเชื่อมโยงระหว่างชาติตะวันออกกลางด้วยรถไฟ และเชื่อมโยงตะวันออกกลางกับอินเดียด้วยท่าเรือ เพื่อช่วยให้มีการเคลื่อนย้ายด้านพลังงานและการค้าจากตะวันออกกลางสู่ยุโรป ที่จะช่วยลดระยะเวลาเดินเรือ ประหยัดต้นทุนและพลังงาน
ที่ประชุมยังประกาศรับสหภาพแอฟริกาเข้าเป็นสมาชิกถาวรของจี20 ซึ่งเป็นความพยายามผลักดันสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ และทำให้ชาติกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นของโลก
ส่วนประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา ที่จะเป็นประธานจี20 ปีหน้า เปิดเผยว่า จะเชิญประธานาธิบดีปูตินเข้าร่วมประชุมที่นครริโอ เด จาเนโร ในปีหน้า และรับรองว่า ปูตินจะไม่ถูกจับกุมเมื่ออยู่ในบราซิล
ปูติน ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศหลายเวทีแล้ว นับจากถูกออกหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เมื่อเดือนมีนาคม ในคดีอาชญากรรมสงคราม ฐานนำตัวเด็กหลายร้อยคนออกจากยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย แต่รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหา