อุตฯใบชา‘ดาร์จีลิง’อินเดียป่วน เจอคู่แข่ง'ชาเนปาล'ราคาถูก
อุตฯใบชา‘ดาร์จีลิง’อินเดียป่วน เจอคู่แข่ง'ชาเนปาล'ราคาถูก โดยค่าจ้างแรงงานที่สูงและราคาส่งออกที่ตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ฉุดอุตสาหกรรมชาอินเดียให้ไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจาก 70% ของต้นทุนการผลิตชา เป็นเรื่องของค่าจ้างแรงงาน
หลายคนมักคุ้นเคยกับโปสการ์ดภาพไร่ชาดาร์จีลิง ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียที่ปกคลุมไปด้วยก้อนเมฆลอยอยู่เหนือเนินเขาที่เป็นไร่ชาเขียวขจี ตัดกับสีสันสดใสจากผ้าซิ่นของหญิงชาวไร่ชาที่ออกมาเก็บใบชาใส่ตะกร้าสานที่ผูกไว้ด้านหลัง
แต่ความจริงของเบื้องหลังภาพโปสการ์ดนี้คือ ผลผลิตและความต้องการสินค้าที่ปรับตัวร่วงลงมาก เนื่องจากผู้ซื้อเปลี่ยนไปซื้อชาที่มีราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เนปาล” ถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายต่ออนาคตของแรงงานและพื้นที่เพาะปลูกชา ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น “แชมเปญแห่งชา”
“สุบาชิช รอย” ผู้จัดการบริษัทอาร์ยา ที เอสเตตในเมืองดาร์จีลิง บอกว่า “อนาคตของชาดาร์จีลิงเริ่มริบหรี่ลง และจุดจบกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เรื่อยๆ ถ้าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง แรงงานหลายพันคนอาจสูญเสียวิถีการใช้ชีวิต และมรดกเหล่านี้จะหายไปตลอดกาล”
อุตสาหกรรมชาดาร์จีลิงอันโด่งดัง เริ่มต้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ ที่ปลูกชาบนเนินเขาอินเดียหลายแห่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 19
ข้อมูลจากคณะกรรมการชาแห่งอินเดีย หน่วยงานสูงสุดของอุตสาหกรรมชา ระบุว่า ปัจจุบัน เนินเขาอินเดียมีไร่ชา 87 แห่ง บนพื้นที่ที่เป็นเขา 17,800 เฮกตาร์ หรือราว 111,250 ไร่ และสามารถผลิตชาออร์แกนิกได้ประมาณ 6,640 ตัน ในปี 2565 น้อยกว่าผลผลิตในปี 2562 ที่สามารถผลิตได้ 7,690 ตัน
“สัญชัย เชาดรี” ผู้เชี่ยวชาญชาและเจ้าของริงทอง ที เอสเตต บอกว่า มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผลผลิตลดลง โดยผลผลิตลดลงเกือบ 40% ตั้งแต่ไร่ชาเปลี่ยนไปเป็นไร่ออร์แกนิกแบบเต็มตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
“เรายังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่พร้อมเข้าอุตสาหกรรมชา และเกิดการอพยพย้ายถิ่น ประกอบกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตชาลดลงเช่นกัน” เชาดรี กล่าว
ขณะที่ “อโศก โลเฮีย” ประธานบริษัทชามอง ที เอสเตต บอกว่า ยอดส่งออกชาดาร์จีลิงลดลง เพราะชาเนปาลราคาถูกกว่า เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกเพราะปลูกด้วยวิธีดั้งเดิม ส่่วนต้นทุนชาอินเดียแพงกว่าและราคาส่งออกไม่สูงมากนัก
ด้านบริษัทกันเตอร์ ฟัลตินในกรุงเบอร์ลิน หนึ่งในผู้นำเข้าชาดาร์จีลิงไปยังประเทศในแถบยุโรปรายใหญ่ที่สุด บอกว่า อุปสงค์ในยุโรปกำลังประสบปัญหา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บั่นทอนกำลังซื้อของลูกค้า
เมื่อไปเยือนเมืองดาร์จีลองเมื่อเร็ว ๆ นี้ธุรกิจกังวลว่า การนำเข้าชาราคาถูกจากเนปาล อาจทำลายวิธีชีวิตของแรงงานเก็บชาหลายพันคนในดาร์จีลิง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวม
ด้าน “จีเทนดรา มาลู” ประธานสมาคมชาดาร์จีลิง เผยว่า ไร่ชา 30% ในดาร์จีลิงผิดนัดชำระหนี้ และยังไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกฎหมายให้แรงงานของตน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินบำเหน็จ ปัญหาเหล่านี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 และแย่ลงเรื่อย ๆ นับแต่นั้น
บริษัทปลูกชาบนเนินเขา บอกว่า การปิดไร่ชาเป็นเวลา 5 เดือน โดยกลุ่มทางการเมืองที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในปี 2560 เป็นหายนะต่ออุตสาหกรรมชา และไม่สามารถฟื้นฟูได้เต็มที่นับแต่นั้น
“ซูมอน มาจัมเดอร์” ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Hmp Group Kolkata และผู้ส่งออกชาดาร์จีลิง กล่าวว่า “การประท้วงไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมตกต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูพีคของการเก็บเกี่ยวชาครั้งแรก และครั้งที่สองของสินค้าระดับพรีเมียม ผู้ซื้อชาวต่างชาติที่สั่งสินค้าแล้ว กำลังรอสินค้าอยู่ แต่การปิดไร่ชาทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก"
พร้อมเสริมว่า ผู้นำเข้าชาทั่วโลกเริ่มมองหาแหล่งชาที่คล้ายชาดาร์จีลิง และเลือกเนปาล ที่สามารถผลิตชาได้คล้ายกันแต่รสชาติต่างกัน และบังเอิญปลูกในระดับความสูงและสภาพภูมิอากาศเดียวกัน ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า แม้คุณภาพชาไม่เทียบเท่าดาร์จีลิง
แม้แต่ผู้ซื้อในประเทศ ยังเริ่มผสมชาดาร์จีลิงกับชาราคาถูกจากเนปาลเพื่อเพิ่มผลกำไร เนื่องจากลูกค้าแยกความแตกต่างระหว่างชาทั้งสองชนิดนี้ได้ยาก
“เชาดรี” จากริงทอง ที เอสเตต ตั้งคำถามต่อคณะกรรมชาเกี่ยวกับอันตรายจากชาเนปาล เกี่ยวกับ'โมโนโครฟอส' เนื่องจากโมโนโครฟอส เป็นยาฆ่าแมลงที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ แต่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเนปาล และอินเดีย ยังไม่มีการทดสอบชาเนปาลดังกล่าวอย่างเหมาะสม อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้บริโภคในอินเดีย
อุตสาหกรรมชาดาร์จีลิง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีของอินเดียกับเนปาล และบังคับใช้สิ่งบ่งชีทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ เพื่อห้ามไม่ให้มีการผสมชาดาร์จีลิงกับชาอื่น ๆ
ในปี 2547 ชาดาร์จีลิงจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์จากอินเดียตัวแรกที่ได้รับจีไอ เนื่องจากชามีรสชาติและกลิ่นหอมที่โดดเด่น
ด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการชา บอกว่า หน่วยงานกำลังพิจารณาเรื่องนี้ และได้ยื่นข้อเสนอช่วยเหลือทางการเงินไปยังกระทรวงพาณิชย์ของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมชา รวมถึงชาดาร์จีลิงแล้ว