'ทุเรียนไทย' ส่อได้อานิสงส์ 'จีน' หนุนดีมานด์ตลาดโลกพุ่ง 400%
นักเศรษฐศาสตร์คาด “ทุเรียนไทย” ส่อได้รับอานิสงส์ จากกระแสนิยมทุเรียนใน “จีน” ที่ช่วยหนุนความต้องการตลาดโลกพุ่ง 400% ต่อปี
ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ออกรายงานคาดการณ์ว่า ความต้องการทุเรียนในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 400% โดยได้แรงหนุนจากความนิยมรับประทานทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในจีน
“แม้คนจำนวนหนึ่งมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งบ่นว่าทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือนถุงเท้า แต่เราคาดว่าความต้องการทุเรียนมีแนวโน้มพุ่งขึ้นถึง 400% เมื่อเทียบเป็นรายปี นำโดยความต้องการในจีนที่พุ่งขึ้นอย่างมาก” เอชเอสบีซีระบุในรายงาน
- จีนนำเข้าทุเรียน 91% ของดีมานด์โลก
เอริส ดาคาไนย์ (Aris Dacanay) นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคอาเซียนของเอชเอสบีซี ระบุในรายงานว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนเป็นมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 91% ของความต้องการทุเรียนทั่วโลก ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมากในจีน โดยผู้บริโภคชาวจีนไม่ได้มองว่าทุเรียนเป็นเพียงผลไม้ แต่ยังเป็นของขวัญที่แสดงออกถึงความมั่งคั่งของผู้ให้
นอกจากนี้ มีชาวจีนจำนวนมากขึ้นที่นิยมนำทุเรียนมามอบเป็นของขวัญให้กับบรรดาเพื่อนฝูงและญาติมิตรในวันหมั้นตามประเพณีด้วย
“ทุเรียนเริ่มเป็นที่ต้องการในจีนเมื่อช่วงต้นปี 2560 และขณะนี้ความต้องการยังคงฟื้นตัวจากในช่วงปลายปี 2565 ทุเรียนซึ่งได้รับฉายาว่า ‘ราชาแห่งผลไม้’ มีราคาขายในจีนอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 10 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 ดอลลาร์ โดยผู้ส่งออกรายใหญ่อยู่ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งคิดเป็น 90% ของการส่งออกทุเรียนทั่วโลกในปี 2565” เอชเอสบีซีระบุในรายงาน
- ทุเรียนไทยยังมีแต้มต่อเหนือชาติอื่น
เฉพาะไทยเพียงประเทศเดียว มีการส่งออกทุเรียนในสัดส่วนสูงถึง 99% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
- ทุเรียนสดที่จำหน่ายตามท้องตลาดในประเทศไทย (เครดิตภาพ: AFP) -
“สำหรับคำถามที่ว่า ทุเรียนจะได้รับความนิยมเหมือนกับยางพาราไหม? ก็อาจจะเป็นไปได้ในวันหนึ่ง ความต้องการทุเรียนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มากและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกสำหรับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนที่จะโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดทุเรียน” ดาคาไนย์กล่าว
ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น อนุญาตให้ประเทศที่ลงนามในความตกลงดังกล่าวสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม
- แม่ค้าชาวเวียดนามยืนเรียกลูกค้าให้มาซื้อทุเรียน ริมถนนในกรุงฮานอย (เครดิตภาพ: AFP) -
“หน้าต่างแห่งโอกาสเปิดออกแล้วในจีน ตลาดทุเรียนกำลังเติบโตขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนก็กระตือรือร้นที่จะเข้ามาแข่งขันกับไทยในการเป็นเจ้าตลาดราชาแห่งผลไม้ชนิดนี้” ดาคาไนย์กล่าว
อ้างอิง: CNBC