ยอดนำเข้าอีคอมเมิร์ซพุ่ง ฉุดรายได้อุตฯค้าปลีกญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าในปี 2565 ทั้งหมด 112.89 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 18% ซึ่งสินค้าราว 90% ขนส่งทางอากาศ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าจัดส่งตามบ้าน
การนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสินค้าอุปโภคบริโภค ของชาวญี่ปุ่น พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนซื้อสินค้าปลอดภาษีทางออนไลน์ของต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการขนส่งสินค้าขนาดเล็กของบริการดิลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน จนมูลค่านำเข้าสินค้าที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น พุ่งสูงถึง 100 ล้านเยนในปี 2565 มากกว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2562 ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมค้าปลีกญี่ปุ่นต่างกังวลว่า อุตสาหกรรมนี้อาจได้รับผลกระทบจากเทรนด์นำเข้าสินค้าต่างประเทศ เนื่องจากชาวญี่ปุ่น ซื้อสินค้าต่างชาติจำนวนมากผ่านระบบออนไลน์ และสินค้าเหล่านั้น ได้รับการยกเว้นเก็บภาษีการบริโภคและภาษีศุลกากร จึงมีข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าสินค้าในประเทศ
ทั้งนี้ บุคคลใดที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมศุลกากรก่อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าสินค้าในนามของธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้แพลตฟอร์มของตนจำหน่ายสินค้า
ข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าในปี 2565 ทั้งหมด 112.89 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 18% ซึ่งสินค้าราว 90% ขนส่งทางอากาศ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าจัดส่งตามบ้าน
การนำเข้าสินค้าขนาดเล็กจำนวนมาก เริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จากนั้นการขนส่งสินค้าประเภทนี้ก็เติบโตขึ้น 2.4 เท่า ในช่วง 3 ปีถัดไป เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ผู้คนออกไปชอปปิงข้างนอกได้ยากลำบากมากขึ้น ลูกค้าญี่ปุ่นจึงซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันจากต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พบว่า การนำเข้าสินค้าอีคอมเมิร์ซจากทั้งสหรัฐและจีนในปี 2565 เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับมูลค่า 3.954 แสนล้านเยน หรือราว 9.59 หมื่นล้านบาท
ตามข้อมูลของเพย์พาล บริษัทให้บริการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลสัญชาติสหรัฐ เผยว่า นักชอปจำนวนมากในญี่ปุ่น ใช้บริการเพย์พาล เพื่อซื้อชุดออกกำลังกาย, เดรส และเครื่องแต่งกายอื่น ๆ รวมถึงเครื่องสำอาง อย่างเช่น ลิปสติก
“คาสุโยชิ นาคาซาโตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ซิกแซ็ก บริษัทให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน บอกว่า “ลูกค้าทั่วไปเริ่มคุ้นเคยกับสินค้าต่างประเทศ การนำเข้าสินค้าราคาถูกเหล่านั้น อาจเติบโตมากขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทำให้ตอนนี้ลูกค้ามีทางเลือกชอปปิงเครื่องแต่งกาย และสินค้าจิปาถะ ผ่านร้านค้าปลีกออนไลน์ราคาถูกได้มากขึ้น อาทิ เสื้อผ้าแบรนด์เตมู (Temu) และชีอิน (Shein) ที่เปิดให้บริการในญี่ปุ่น
การชอปปิงผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้้ ทำให้เหล่านักชอป ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีการบริโภคและภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้า ถ้าการนำเข้านั้นมีมูลค่าไม่เกิน 16,666 เยน แต่สินค้าบางชนิด เช่น สินค้าประเภทเครื่องหนังและเสื้อถัก ยังต้องเสียภาษี และบางครั้ง การซื้อสินค้านำเข้า อาจมีราคาถูกกว่าสินค้าในประเทศ แม้ราคานำเข้ารวมค่าขนส่งแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ หลายประเทศและหลายภูมิภาคเริ่มปรับนโยบายภาษีกันบ้างแล้ว เช่น การยกเว้นภาษี เพื่อทำให้การตรวจสอบของศุลกากรง่ายขึ้นและเพื่อกระตุ้นการค้า แต่การนำเข้าสินค้าปลอดภาษีที่เพิ่มขึ้น อาจทำร้ายเศรษฐกิจในประเทศได้
ญี่ปุ่นจึงมีความกังวลเกี่ยวกับสินค้าท้องถิ่นที่อาจเสียเปรียบสินค้าต่างประเทศ เพราะสินค้าเหล่านั้นยังต้องเสียภาษีการบริโภค 10% และปัญหามากมายที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดน อาจเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งสตาทิสตา บริษัทวิจัยสัญชาติเยอรมัน คาดการณ์ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาจขยายตัวไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม บางประเทศเริ่มแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวแล้วเช่นกัน โดยสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้านำเข้าขนาดเล็กในปี 2564 เนื่องจากเกิดความกังวลว่า การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน และประเทศอื่น ๆ อาจเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่สิงคโปร์ ก็ยกเลิกการยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีนำเข้า โดยเริ่มยกเลิกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่า ประเทศญี่ปุ่นจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่น่ากังวลค่อนข้างช้า
“ชิคาระ โอคาดะ” พาร์ทเนอร์บริษัท Ernst & Young Tax มองว่า “ญี่ปุ่นอาจต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะแก้ไขปัญหาการบิดเบือนด้านราคาได้”
ปัญหาการนำเข้าสินค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบภาษีของญี่ปุ่นไม่มีความยืดหยุ่น โดยข้อกำหนดเสียภาษีญี่ปุ่นระบุว่า ธุรกิจต้องเสียภาษีการบริโภค หรือการเสียภาษีจะพิจารณาจากรายได้ย้อนหลัง 2 ปี ในทางกลับกัน การเก็บภาษีแบบครอบคลุม อาจสร้างความกังวลด้านความไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริงคือ ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงของการนำเข้าสินค้าอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่น โดยสถิติการค้าจากกระทรวงการคลังส่วนใหญ่ ไม่รวมการขนส่งสินค้าราคาถูกขนาดเล็ก ทำให้ตัวเลขใบอนุญาตนำเข้า เป็นเพียงข้อมูลซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนขนาดเล็กเท่านั้น
ทั้งศุลกากรและเจ้าหน้าที่รัฐเก็บภาษี ต่างไม่มีใครเผยรายละเอียดข้อมูลว่า สินค้าใดบ้างที่ญี่ปุ่นนำเข้าและนำเข้าปริมาณเท่าใด
ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบดิจิทัล สังคมโลกไม่มีขอบเขตด้านการบริโภค แน่นอนว่าญี่ปุ่นอาจแก้ไขระบบภาษีและมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ญี่ปุ่นต้องเข้าใจสถานการณ์การซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของนักชอปญี่ปุ่นให้ได้เสียก่อน