รู้จัก “Sunac Holdings” อดีตยักษ์อสังหาฯ จีนเบอร์ 3 ที่ล้มละลายล่าสุด
ส่องประวัติ “Sunac China Holdings” ยักษ์อสังหาฯ จีนรายล่าสุดที่ยื่นล้มละลายในสหรัฐต่อจาก “เอเวอร์แกรนด์” ใหญ่แค่ไหน มีหนี้เท่าไร และใครอาจเป็นรายต่อไป
Key Points:
- Sunac China Holdings กลายเป็นบริษัทอสังหาฯ จีนรายที่ 2 ที่ยื่นล้มละลายในสหรัฐ
- บริษัทใหญ่อีกราย Country Garden เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เป็นรายล่าสุด หลังเจ้าหนี้ยังไม่ได้รับดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ
หลังจากที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งในจีนอย่าง China Evergrande ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กระบวนการล้มละลายตามมาตรา 15 ในสหรัฐ ไปเมื่อเดือน ส.ค. ที่เพิ่งผ่านมา ล่าสุด "Sunac China Holdings" กลายเป็นบริษัทอสังหาฯ จากจีนรายที่ 2 ที่ตบเท้ายื่นล้มละลายในสหรัฐ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. และเป็นสัญญาณสะท้อนว่าวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ อาจยังไม่จบลงง่ายๆ
- Sunac China Holdings “ใหญ่” แค่ไหนในจีน
จากข้อมูลของ CreditSights ในเดือนสิงหาคมปีนี้ Sunac China Holdings นับเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนรายใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ในประเทศ ในแง่ของยอดขาย ซึ่งเป็นการหล่นชั้นลงมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่บริษัทเริ่ม “ผิดนัดชำระหนี้” (Default) เป็นครั้งแรกเมื่้อเดือน พ.ค. 2022 หลังจากไม่สามารถชำระดอกเบี้ย 29.5 ล้านดอลลาร์ ของหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศวงเงินเกือบ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้
ทว่าในยุครุ่งเรืองนั้น Sunac เคยใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ในจีนมาแล้ว โดยบริษัทมีสำนักงานใหญ่ในนครเทียนจิน เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ เป็นหลัก เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่เบอร์ต้นๆ ในตลาดจีนมาตลอด
ในผลประกอบการปี 2019 ก่อนยุคฟองสบู่แตก บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 3,700 ล้านดอลลาร์ (มากกว่า 1.3 แสนล้านบาท) และในปี 2020 ที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาคุมตลาดอสังหาฯ บริษัทก็ยังสามารถทำรายรับได้ถึง 2.3 แสนล้านหยวนต่อปี (มากกว่า 1 ล้านล้านบาท)
- จากคนติดคุกสู่ “เจ้าชายขี่ม้าขาว” แห่งวงการอสังหาฯ
กรณีของ Sunac ไม่ได้น่าสนใจแค่เพราะเป็นเบอร์ใหญ่ในตลาดจีนเท่านั้น แต่ยังมีสตอรี่ที่น่าสนใจมาตั้งแต่ “ผู้ก่อตั้ง” อย่าง Sun Hongbin ที่เคยติดคุกมาก่อน เคยทำธุรกิจอสังหาฯ เจ๊งมาแล้ว และเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวแห่งวงการอสังหาฯ จีน
Sun เรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำชิงหวา (Tsinghua) ได้ทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่เลอโนโว เขากลายเป็นดาวเด่นในบริษัทก่อนที่จะลาออกในเวลาต่อมาและถูกฟ้องร้องในคดียักยอกทรัพย์ 1.3 แสนหยวน (ประมาณ 6.5 แสนบาท) จนถูกตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี แต่ระหว่างนั้นก็ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดีและได้รับการตัดสินให้พ้นมลทินในเวลาต่อมา
เขาได้ก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในชื่อว่า Sunco ในเมืองเทียนจิน เมื่อปี 1994 เพื่อเข้ามาเล่นในตลาดที่มีแนวโน้มสดใส ทว่าธุรกิจอสังหาฯ ครั้งแรกของเขาไปได้ไม่สวยนักเมื่อเจอปัญหาขาดสภาพคล่อง จนต้องขายบริษัทให้กับทุนฮ่องกง ทำให้เขาหันไปโฟกัสกับบริษัทใหม่ “Sunac China Holdings” ซึ่งครั้งนี้บริษัทเติบโตมาด้วยดีจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2010 จนทำให้ Sun ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบ 200 มหาเศรษฐีจีนได้ในวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น
สินทรัพย์ของเขาเพิ่มพูนขึ้นเป็นกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 จากการรายงานของฟอร์บส์ และเขายังเคยได้ฉายาว่าเป็น "เจ้าชายขี่ม้าขาวแห่งวงการอสังหาฯ" กับการช่วยซื้อสินทรัพย์ของบริษัทอสังหาฯ รายอื่นๆ ในช่วงที่ตลาดทรงๆ ตัวก่อนหน้านี้ แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถรอดพ้นจากวิกฤติครั้งใหญ่ในจีนได้ จนนำไปสู่การยื่นล้มละลายในที่สุด
- หนี้สินพุ่งเกือบ 5 ล้านล้านบาท
อาจกล่าวได้ว่าปัญหาของ Sunac ไม่ใช่ปัญหาการบริหารผิดพลาดแค่เฉพาะราย แต่เป็นปัญหาในภาพรวมของวงการอสังหาริมทรัพย์จีนทั้งหมด ที่เผชิญชะตากรรมคล้ายๆ กัน เคยมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์เมื่อรัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายปล่อยสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเงินจำนวนมากถูกกระจายผ่านตามรัฐบาลท้องถิ่น และนำไปสู่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่รัฐบาลกลางจะกลับลำหันมาเปลี่ยนแผนครั้งใหญ่ด้วยการออกนโยบาย "Three Red Lines" เพื่อคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังปี 2020
จากรายงานผลประกอบการบริษัทปีล่าสุด Sunac มีหนี้สินทั้งหมด ณ สิ้นปี 2022 ที่ 1 ล้านล้านหยวน (มากกว่า 5 ล้านล้านบาท) ท่ามกลางวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ และทำให้ยอดขายในปีที่แล้วลดฮวบลงถึง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
หลังจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศครั้งแรกเมื่อกลางปี 2022 บริษัทมีการขอนัดบรรดาเจ้าหนี้เพื่อเจรจาขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามมาอีกหลายครั้ง ทั้งหนี้ในสกุลเงินหยวนและหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเฉพาะในปี 2022 บริษัทมีหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดชำระทั้งหมดถึง 1.7 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า ประสบความสำเร็จในการขอเจรจากับเจ้าหนี้มากกว่า 2,000 ราย ในการปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยสกุลเงินต่างประเทศวงเงินราว 9,900 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัททะยานขึ้นในช่วงเช้า เนื่องจากถือเป็นสัญญาณบวกและยังเป็นบริษัทอสังหาฯ ใหญ่รายแรกที่สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้สำเร็จ ก่อนที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันจะมีการเปิดเผยว่า บริษัทยื่นขอรับความคุ้มครองจากศาลล้มละลายสหรัฐ ภายใต้มาตรา 15 ซึ่งนับเป็นรายที่สองต่อจาก ไชน่า เอเวอร์แกรนด์
- ใครเสี่ยง “ล้มละลาย” รายต่อไป
ชื่อของ "Country Garden" บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับต้นๆ ในจีน ที่เคยแซงเอเวอร์แกรนด์ขึ้นเป็นเบอร์ 1 เมื่อปีที่แล้ว อยู่ในรายชื่อที่มีความเสี่ยงสูงอันดับต้นๆ ตามมา หลังจากที่เคยสุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มาแล้วหลายครั้ง
ในการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งการขาดทุน 4.89 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.4 แสนล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ขณะที่บริษัทมีหนี้ทั้งหมด 1.94 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 7 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2022
รอยเตอร์สระบุว่าหลังจากที่บริษัทรอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้มาได้อย่างฉิวเฉียดถึง 2 ครั้งภายในเดือนนี้ ล่าสุดได้ถึงกำหนดครบชำระใหม่อีกครั้งกับดอกเบี้ยจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ ของหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. เจ้าหนี้บางรายเปิดเผยว่ายังไม่ได้รับเงิน ซึ่งต้องจับตาดูว่าบริษัทจะสามารถจัดการได้ภายในช่วงระยะเวลาผ่อนผันถึงกลางเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของ Country Garden ที่จะเขย่าความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง
ที่มา: https://edition.cnn.com/2023/09/19/economy/china-sunac-ny-bankruptcy-protection-intl-hnk/index.html
https://www.reuters.com/world/china/sunac-country-garden-debt-deals-bring-respite-chinas-property-sector-2023-09-19/
https://www.wsj.com/articles/no-stranger-to-failure-founder-of-sunac-china-fights-to-save-his-property-empire-11650798001