'มูดีส์'ออกรายงานเตือนไทยมีความเสี่ยงหลายด้าน อาจถูกหั่นเรตติ้ง

'มูดีส์'ออกรายงานเตือนไทยมีความเสี่ยงหลายด้าน อาจถูกหั่นเรตติ้ง

มูดีส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือออกรายงานเตือนไทยว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน รวมทั้งผลกระทบทางการเมืองที่อาจส่งผลให้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

Key Points

  • ภาพรวมเครดิตไทยมีเสถียรภาพ แต่ให้ระวังปัจจัยลบด้านต่างๆ ทั้งการเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานขาดทักษะ และผลกระทบจากการเมือง
  • อันดับเครดิตของไทยมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงได้ หากตัวชี้วัดทางการคลังและภาระหนี้อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด
  • อาจมีแรงกดดันด้านลบต่ออันดับเครดิต หากความตึงเครียดทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่จะทำให้สถาบันอ่อนแอลง และทำให้ดำเนินนโยบายยากลำบาก
  • ความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อที่มีผลไปยังกระแสการลงทุน การท่องเที่ยวและกิจกรรมภาคการผลิตให้อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็มีผลด้านลบต่ออันดับเครดิต

มูดีส์ ระบุว่า ภาพรวมของไทยอยู่ในระดับ Baa1 stable (Baa1 มีเสถียรภาพ) แต่ให้ระวังปัจจัยลบในด้านต่างๆ ทั้งการเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานขาดทักษะ และผลกระทบจากการเมืองที่หากมีความขัดแย้งมากขึ้น ก็อาจทำให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้

รายงาน Credit Opinion ของมูดีส์ฉบับนี้ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ล่าสุด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในการคาดการณ์ พบว่า ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 และมีแนวโน้มอันดับเครดิตที่ มีเสถียรภาพ (stable outlook)

ภาพรวมอันดับเครดิตของประเทศไทย Baa1 stable (Baa1 มีเสถียรภาพ) นั้น สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำให้ประเทศมีความสามารถในการรับมือกับแรงกระแทก หรือภาวะช็อก ที่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ กันชนทางการคลังขนาดใหญ่ของประเทศไทยก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย แม้ว่าจะทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นก็ตาม

เศรษฐกิจขนาดใหญ่และความหลากหลายของประเทศไทยยังเป็นแรงหนุนความสามารถในการรองรับผลกระทบฉับพลัน  จากการเปิดรับภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่มีผลต่ออันดับเครดิต รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองและความท้าทายระยะยาวเชิงโครงสร้าง ในเรื่องสังคมสูงวัยและแรงงานขาดทักษะในการทำงาน มีผลต่อศักยภาพในการเติบโตในอนาคต

จุดแข็งของอันดับเครดิต
มูดีส์ระบุถึงจุดแข็งที่จะทำให้มีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยว่า คือการที่ภาระหนี้รัฐบาลมีน้อยและต้นทุนทางการเงินไม่สูง ,สถาบันเข้มแข็งที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง ,ภาคต่างประเทศมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง

ความท้าทายของอันดับเครดิต
ความท้าทายที่อาจนำไปสู่การถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยคือ สังคมสูงวัย ระดับความสามารถของแรงงาน ที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตระยะยาวและความเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังมีอยู่
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตที่มีเสถียรภาพ (stable outlook) บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่สมดุลต่ออันดับเครดิตของประเทศไทย ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยอาจได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ รวมถึงการยกระดับการดำเนินการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มากกว่าที่ประเมินไว้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมจากสังคมสูงวัย และยังไม่ได้เห็นความสามารถของประเทศไทยในการรองรับเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิผลในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายการคลังที่รอบคอบ แม้จะมีความวุ่นวายในแวดวงการเมือง ก็มีส่วนทำให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเพิ่มอันดับ
มูดีส์ ระบุในรายงานว่า อันดับเครดิตน่าจะได้รับการปรับเพิ่มหากมีแนวโน้มมากขึ้นว่า ระดับการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การเติบโตของผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างน้อยจะช่วยชดเชยแรงฉุดการเติบโต ที่อาจเกิดขึ้นจากช่องว่างด้านทักษะ หรือระดับความสามารถของแรงงาน และประชากรสูงวัยในปัจจุบันได้บางส่วน ที่อาจเป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างที่มีประสิทธิผลมากขึ้น และการเร่งดำเนินการโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ได้เร็วกว่าที่คาดในปัจจุบัน และ/หรือความเสี่ยงทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงอย่างถาวร
แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การลดอันดับ
อันดับเครดิตของไทย มีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงได้ หากตัวชี้วัดทางการคลังและภาระหนี้อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือจากที่คาดการณ์ไว้ หรือ/และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล หรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง (fiscal consolidation) ในระยะปานกลางลดลง ซึ่งส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการคลังของรัฐบาลถดถอยอย่างต่อเนื่อง
 นอกจากนี้ อาจมีแรงกดดันด้านลบต่ออันดับเครดิต หากความตึงเครียดทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่จะทำให้สถาบันอ่อนแอลง และทำให้ดำเนินนโยบายยากลำบาก ความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อที่มีผลไปยังกระแสการลงทุน การท่องเที่ยวและกิจกรรมภาคการผลิตให้อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็มีผลด้านลบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน เนื่องจากจะมีผลถ่วงศักยภาพการเติบโตและกัดเซาะความแข็งแกร่งทางการคลังของประเทศไทย
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.moodys.com/credit-ratings/Thailand-Government-of-credit-rating-747330/summary