คาซัคสถานจัดใหญ่ประชุมผู้นำศาสนาช่วยสร้างสันติภาพโลก
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย นำเสนอบทความพิเศษโดยประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ต โตคาเยฟ เนื่องในโอกาสคาซัคเป็นเจ้าภาพประชุมเลขาธิการผู้นำศาสนาโลก ระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. ณ กรุงอัสตานา
ไม่ใช่ความลับที่ว่าโลกกำลังเป็นประจักษ์พยานความตึงเครียดระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกขณะ ระเบียบโลกที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งสหประชาชาติถูกกัดกร่อน ความแตกแยกระหว่างกลุ่มที่ไม่เคยเห็นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังกลับมาอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้โลกของเราต้องเผชิญกับภัยคุกคามรุนแรงหลายประการ เช่น การแข่งขันด้านอาวุธรอบใหม่ ภัยคุกคามจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการแพร่กระจายสงครามทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสงครามจริง สงครามลูกผสม สงครามไซเบอร์ และสงครามการค้า
ในบรรยากาศความตึงเครียดและภูมิรัฐศาสตร์ปั่นป่วนมากขึ้นนี้ การพัฒนาแนวทางใหม่เพิ่มเสริมสร้างการสนทนาระหว่างอารยธรรมและความไว้เนื้อเชื่อใจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นย่อมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
การทูตเป็นกุญแจสำคัญก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างไม่ต้องสงสัย ตลอดเวลาที่ผ่านมาคาซัคสถานสนับสนุนแก้ไขข้อพิพาทบนโต๊ะเจรจาตามกฎบัตรสหประชาชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ประเทศของเราส่งเสริมหลักการมุ่งเป้าบรรลุสันติภาพเสถียรภาพถาวร และความก้าวหน้ายั่งยืนทั่วทั้งโลกมาอย่างต่อเนื่อง แต่แม้พยายามอย่างดีที่สุดแค่ไหน ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก
เพื่อสร้างระบบความมั่นคงระหว่างประเทศใหม่ โลกต้องการการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพระดับโลก ผมเชื่อว่าบทบาทผู้นำศาสนาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ณ จุดนี้
ประชากรโลกราว 85% ระบุว่านับถือศาสนา ทำให้ศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตเรา ดังนั้นผู้นำศาสนาจึงมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อกิจการโลก
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกศาสนายังมีหลักการร่วมกันเรื่องคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์ การช่วยเหลือกัน ปฏิเสธการเป็นศัตรูมุ่งทำลายล้าง ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อมั่นว่า หลักการเหล่านี้สามารถสร้างพื้นฐานระบบโลกใหม่ได้
ผู้นำศาสนาจะช่วยผลักดันสันติภาพโลกได้อย่างไร
ประการแรก ผู้นำศาสนาสามารถมีส่วนร่วมเยียวยาบาดแผลจากความเกลียดชังจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออย่างกรณีซีเรีย
คาซัคสถานยินดีกับข้อเท็จจริงที่ว่า ความเป็นปรปักษ์ได้ยุติลงแล้วในประเทศนั้น เรายินดีที่ได้มีส่วนร่วมผ่านการเจรจาสันติภาพ “กระบวนการอัสตานา” ที่ได้อำนวยความสะดวกให้มีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2560 ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลซีเรีย ฝ่ายต่อต้าน รวมถึงตุรกี อิหร่าน และรัสเซีย
กระนั้น แม้ความขัดแย้งรุนแรงจบลง แต่ความแตกแยกภายในประเทศยังคงอยู่ ผู้นำทางจิตวิญญาณสามารถแสดงบทบทสำคัญเยียวยาสังคมซีเรียผ่านพลังของศาสนา
ประการที่ 2 ธรรมชาติของมนุษย์นั้นขัดแย้ง มีการยั่วยุเกลียดชังกันอยู่เสมอ การเผาคัมภีร์อัลกุรอ่านเมื่อเร็วๆ นี้ในหลายประเทศทางยุโรปเหนือเป็นกระแสลบที่บั่นทอนวัฒนธรรมอดทนอดกลั้น เคารพซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เมื่อมองในแง่นี้ผู้นำศาสนาในชุมชนเป้าหมายจึงสำคัญในการป้องกันสถานการณ์และกระแสดังกล่าว
ประการที่ 3 เทคโนโลยีใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์อย่างสุดขั้วในทุกด้าน
ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เช่น ยกระดับการดูแลสุขภาพ, ให้ข้อมูลออนไลน์ได้ไม่จำกัด การสื่อสารและเดินทางทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเราได้เห็นสังคมกำลังแตกแยกแบ่งขั้วภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัล
ในความเป็นจริงใหม่แห่งโลกดิจิทัล จำเป็นต้องบ่มเพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณและคู่มือจริยธรรมเช่นกัน ศาสนามีบทบาทสำคัญในด้านนี้ด้วย เนื่องจากทุกความศรัทธาล้วนตั้งอยูบนพื้นฐานอุดมคติแห่งมนุษย์ ยอมรับคุณค่าสูงสุดของชีวิต และมีแรงบันดาลใจเพื่อสันติภาพและการสร้างสรรค์
หลักการพื้นฐานเหล่านี้ควรได้รับการตอกย้ำไม่ใช่แค่ด้านจิตใจ แต่ยังรวมถึงการพัฒนาเศรษฐสังคมของนานาประเทศและการเมืองระหว่างประเทศด้วย
นั่นคือเหตุผลที่ผมภาคภูมิใจ เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่คาซัคสถานเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาผู้นำศาสนา การประชุมที่มีขึ้นทุกๆ สามปีเริ่มต้นขึ้นในปี 2546 เพื่อรับมือกับการไม่ลงรอยกันระหว่างศาสนาและแนวคิดสุดโต่งหลังผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐในเหตุการณ์ 9/11 สภาผู้นำศาสนาส่งเสริมการสนทนาต่างความเชื่อด้วยการนำผู้นำศาสนามาพูดคุยกัน เป็นการสนทนาเปี่ยมความหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างตัวแทนศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
ก่อนเป็นประธานาธิบดีคาซัคสถานในปี 2562 ผมเคยได้รับเกียรติเป็นประธานสำนักเลขาธิการสภาผู้นำศาสนา ได้สังเกตเห็นวิธีที่สภาส่งเสริมความอดทนอดกลั้นและเคารพซึ่งกันและกัน ตรงข้ามกับความเกลียดชังและสุดโต่ง
ปีก่อนประเทศเราจัดการประชุมสภาผู้นำศาสนาครั้งที่ 7 ตัวแทนจาก 50 ประเทศเข้าร่วมทั้งจากศาสนาอิสลาม คริสต์ ยูดาย ชินโต พุทธ โซโรแอสเตอร์ ฮินดู และอื่นๆ
เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาธอลิกเสด็จเยือนคาซัคสถานเป็นคนที่ 2 ถัดจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 เมื่อปี 2544
ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา สภาผู้นำศาสนาโลกกลายเป็นเวทีสนทนาข้ามอารยธรรมระดับโลก ผมเชื่อว่าเวทีนี้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของคาซัคสถานในการสร้างสังคมที่มั่นคงและกลมกลืนจากประชากรกว่า 100 ชาติพันธุ์ 18 ความเชื่อใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติในประเทศของเรา
ด้วยความมุ่งมั่นยอมรับศาสนาและสิทธิมนุษยชน คาซัคสถานกำลังจะเป็นตัวอย่างของโลก แสดงถึงความสำคัญของการสนทนาระหว่างความเชื่อสร้างสังคมโลกที่สงบสุขและกลมเกลียวยิ่งขึ้น
เมื่อโลกยังคงระอุด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง สะพานเชื่อมต่อใหม่ระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรมยิ่งจำเป็นมากขึ้นไปอีกผมรับรองว่า คาซัคสถานจะเอื้อให้มีการสนทนาระดับโลกระหว่างชาติและศาสนา รวมทั้งการสนทนาผ่านเวทีประชุมสภาผู้นำศาสนาเพื่อสร้างความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันในสังคม