เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน

เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน

เมื่อช่วงเย็นของวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 เกิดเหตุกราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในห้างใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ "นักท่องเที่ยวชาวจีน" ที่ชื่นชอบสถานที่แห่งนี้อย่างมาก

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยมีการยืนยันแล้วว่า จากเหตุกราดยิงนี้มีชาวจีนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไป คนจีนเองก็มีความสนใจในข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศไทยมากอยู่แล้ว และต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีกระแสเชิงลบเกี่ยวกับไทยในโลกโซเชียลจีน ไม่ว่าจะกระแสข่าวลือการขโมยไต และการลักพาตัว โดยทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีนมีความร่วมมือกันในการทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชาวจีน และสร้างความเชื่อมั่นในการเที่ยวไทยมากขึ้น 

โดยตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ช่วงเวลาเดียวกับวันหยุดยาววันชาติจีนปีนี้ (29 กันยายน - 6 ตุลาคม) รัฐบาลไทยได้เริ่มนโยบายฟรีวีซ่า กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย ก็ยิ่งทำให้คนจีนหันมาสนใจไทยมากขึ้นอีกครั้งและจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในประเทศไทย แต่หลายคนก็เชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวด้วยตนเองว่า ทางไทยพร้อมรับมือเรื่องความปลอดภัย ในวันที่เดินทางไปต้อนรับ นักท่องเที่ยวจีน ชุดแรกที่มาภายใต้นโยบายฟรีวีซ่า เมื่อ 25 กันยายน และทางกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกมาชื่นชม

แต่พอเกิดเหตุ กราดยิง 3 ตุลาคม 2566 ในสถานที่ที่คนจีนเองก็รู้จักดี และกระแสเกี่ยวกับเที่ยวไทยไม่ปลอดภัยที่มีอยู่ก่อนหน้ายังคงอยู่ ทำให้เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์จีน ทั้ง Weibo, Douyin (TikTok จีน) และ WeChat จึงเป็นกระแสวงกว้าง จนขึ้นเทรนด์ท่ามกลางความกังวลของฝั่งไทยด้วยเช่นกันว่า "กระทบการท่องเที่ยวหรือไม่?" 

อ้ายจง จึงขอสรุปประเด็นที่ "คนจีน" กำลังพูดถึงเกี่ยวกับเหตุกราดยิงและการท่องเที่ยวไทยว่ามีประเด็นใดบ้าง ดังนี้

1. ประเด็น "ไม่กล้าเที่ยวไทย" ปะทุขึ้นอีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนจีนมีความกังวลต่อความปลอดภัยในไทยมากขึ้นกว่าเดิมอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนจีนเสียชีวิต โดยคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ "คนจีนเสียชีวิต 1 ราย ในเหตุการณ์กราดยิงที่กรุงเทพมหานคร" ติดเทรนด์ตั้งแต่คืนวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จนถึงเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และยังคงมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง

โดยความคิดเห็นในโลกโซเชียลจีนส่วนใหญ่ ระบุว่า

  • น่ากลัวมาก
  • เพิ่งวางแผนเที่ยวไทยเอง
  • คงไม่กล้าไปไทยแล้ว
  • เกิดเหตุการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวไทยแย่หนักไปอีก

นอกจากนี้ยังพบว่า มีจำนวนไม่น้อยพูดถึงคอนเสิร์ตที่ไทยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งได้วางแผนจะมาไทยเพื่อดูคอนเสิร์ตและเที่ยวไทย แต่หลายคนกำลังจะยกเลิกจากเหตุที่เกิดขึ้น

อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า เหตุการณ์นี้น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจเที่ยวไทยของคนจีน ดูได้จากเพจบน Weibo ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพจสำนักข่าวออนไลน์ เริ่มทำโพลสำรวจความคิดเห็นของคนจีนว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อ การท่องเที่ยวไทย ของพวกเขาหรือไม่

ดังเช่น โพลสำรวจจาก 新浪新闻 สื่อออนไลน์จีน ตั้งโพล "เกิดเหตุกราดยิงที่ไทย ยังไปเที่ยวไทยหรือไม่" มีผู้เข้าร่วมโหวต ณ ช่วงเที่ยงเวลาไทย ของวันที่ 4 ตุลาคม 2566 จำนวน 5,457 คน ซึ่งส่วนใหญ่เลือก ช่วงนี้ไม่กล้าไป (4,600 เสียง) รองลงมาคือ ยังคงไป (439 เสียง) และไม่เลือกตัวเลือกใดๆ แต่จะแสดงความคิดเห็นในช่องแสดงความคิดเห็น 395 เสียง

เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

2. คนจีนจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลต่อข้อบังคับกฎหมายเรื่อง "การพกอาวุธปืน"

ประเด็น "การพกปืน" และ "ซื้อปืน" ในไทย กลายเป็นประเด็นคำถามที่คนจีนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามบนโลกออนไลน์ ร่วมกับประเด็นการนำเสนอข่าวในจีนโดยอ้างอิงจากข้อมูลของทั้งสำนักข่าวไทยและสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ระบุถึงจำนวนการครอบครองปืนในไทย มีประมาณ 10.3 ล้านกระบอก โดยมีปืนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายเพียง 6 ล้านกระบอก ทำให้คนจีนยิ่งตั้งคำถามว่า แล้ว "ปืนผิดกฎหมาย" มาจากไหน? หลายคนถึงขั้นแสดงความคิดเห็นและโพสต์บน Weibo ว่า ปืนในไทยมีการซื้อขายในโลกออนไลน์ด้วยใช่ไหม?

นอกจากนี้ การที่เยาวชนไทยอายุเพียง 14 ปี เป็นผู้พกปืนเข้าไปในที่สาธารณะและก่อเหตุ คนจีนยิ่งสงสัยว่า ทำไมในไทยสามารถ "พกปืนในที่สาธารณะ" ได้ และคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เยาวชน" สามารถมีปืนได้แล้วหรือ (ตามรายงานข่าวระบุเป็น "แบลงค์กัน" ที่นำมาดัดแปลงให้ใช้กระสุนจริงได้)

เนื่องจากเมื่อเทียบกับกฎหมายประเทศจีน คนทั่วไปจะไม่สามารถครอบครองปืนได้ ยกเว้นผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่าง เจ้าหน้าที่ทหาร กฎหมายจีนมีมาตรการห้ามการผลิตและการค้าปืน จุดประสงค์ควบคุมไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมรุนแรง บุคคลทั่วไปหรือพลเรือนจึงไม่มีสิทธิครอบครองปืน ถ้าใครฝ่าฝืนครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี โดยตัวผู้ผลิตและผู้ขายมีความผิดด้วย

เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน เช็กกระแสโซเชียลจีน จากเหตุเด็ก 14 กราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน

3. กฎหมายไทยเปิดช่องโหว่ในการกระทำผิดหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนออกมาจากฝั่งโซเชียลจีน

เท่าที่ตรวจสอบความคิดเห็นบนโลกโซเชียลจีนแพลตฟอร์มต่างๆ มีอีกหนึ่งประเด็นที่คนจีนให้ความสนใจไม่น้อย คือประเด็นการกระทำผิดของเยาวชนไทย ทำให้เกิดข้อกังวลเช่นกันว่า แล้วถ้าต่อไปมีเหตุแบบนี้อีก ทางไทยจะมีการรับมือและบทลงโทษอย่างไร?

ประเด็นผู้กระทำผิดเป็น "เยาวชน" และไม่ได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อย เป็นประเด็นที่เคยเป็นที่ถกเถียงในจีนอยู่เหมือนกัน และเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ทางจีนปรับกฎหมายและเพิ่มบทลงโทษ

โดยตามหลักกฎหมายอาญาจีน "ความรับผิดทางอาญาจะใช้อย่างสมบูรณ์แบบกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น" แต่ก็มีระบุเอาไว้ว่า หากเป็นความผิดร้ายแรง เช่น กรณีการข่มขืน การฆ่าผู้อื่น จะขยายความรับผิดลงไปถึงเด็กอายุ 12 ปี ตามการปรับแก้กฎหมายเมื่อปี 2563 และบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2564 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 14 ปี โดยทางศาลของจีนจะเป็นผู้พิจารณาว่าดำเนินคดีกับเด็ก 12-14 ปี หรือไม่ โดยตามตัวบทกฎหมายที่แก้ไข จะดำเนินคดี หากเป็นการกระทำการฆาตกรรมโดยเจตนา ทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนา หรือเพื่อทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือทำร้ายผู้อื่นอย่างสาหัสโดยการใช้วิธีโหดร้ายเป็นพิเศษ

แต่ว่ากันตามตรงก็จะเป็นโทษที่เบากว่าคนทั่วไปที่อายุเกิน 18 ปี และสำหรับเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ การรับโทษทางอาญาตามเกณฑ์ข้างต้น หากทำผิด จะมีโทษอย่างไร? ตามมาตรา 17 ของกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐประชาชนจีน หากพวกเขาก่ออาชญากรรม จะไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญา แต่จะมีโทษทางปกครองและทางแพ่งสำหรับผู้ปกครอง และตัวผู้เยาว์เองจะถูกส่งไปยังสถานฟื้นฟูพฤติกรรม

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่