นักสิ่งแวดล้อมจี้สมาชิกอาเซียนออกกฎหมายหมอกควัน

นักสิ่งแวดล้อมจี้สมาชิกอาเซียนออกกฎหมายหมอกควัน

นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนทั้งหมดออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน รับมือวิกฤติล่าสุดที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในขณะนี้

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียรายงาน นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าการออกกฎหมายดังกล่าวจะเปิดช่องให้รัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ดำเนินการกับบริษัทที่ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเขตอำนาจศาลอื่นได้ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดหมอกควันตามมา

หมอกควันเกิดขึ้นแทบจะทุกปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าในอินโดนีเซียเพื่อแผ้วถางที่ดินปลูกพืชทำน้ำมันปาล์ม เยื่อไม้และกระดาษ

หลายครั้งที่หมอกควันข้ามพรมแดนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสมาชิกอาเซียนในช่วงหลัง ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เผชิญมลพิษทางอากาศถึงระดับไม่ดีต่อสุขภาพ

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคุณภาพอากาศในมาเลเซียแย่มากจนรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ต้องมีปากเสียงกับจาการ์ตาในเรื่องนี้ อากาศเพิ่งจะดีขึ้นเมื่อ 2-3 วันนี้ 

เมื่อเวลา 19.00 น. วันศุกร์ (6 ต.ค.) สถานีตรวจสภาพอากาศแห่งหนึ่งในมาเลเซียรายงานผล “ไม่ดีต่อสุขภาพ” 57 สถานีได้ผลคุณภาพอากาศ “ปานกลาง” อีก 10 แห่ง คุณภาพอากาศ “ดี”

นายเฮง เคีย ชุน นักรณรงค์กลยุทธ์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การออกกฎหมายมีความสำคัญเพื่อสร้างหลักประกันว่าบริษัทต่างๆ จะไม่ร่วมสร้างหมอกควันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศเพื่อเป็นการป้องปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนไม่ดีในอุตสาหกรรม กฎหมายจะเป็นพื้นฐานให้แต่ละประเทศตรวจสอบและสร้างสมดุลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทของตนดำเนินการอย่างรับผิดชอบ”

นายเฮงกล่าวด้วยว่า กฎหมายมาเลเซียที่กรีนพีซเสนอเน้นการตรวจตราบริษัทมาเลเซียในอินโดนีเซีย ขณะที่กฎหมายมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนฉบับหนึ่งของสิงคโปร์ในปี 2557 ถือว่า การสร้างหรือมีส่วนสร้างมลพิษหมอกควันในสิงคโปร์มีความผิด