หวั่นสัมพันธ์ 'ซาอุดีอาระเบีย - จีน' เสี่ยงกระทบการเข้าถึงชิป AI ของ 'สหรัฐ'

หวั่นสัมพันธ์ 'ซาอุดีอาระเบีย - จีน' เสี่ยงกระทบการเข้าถึงชิป AI ของ 'สหรัฐ'

ความร่วมมือระหว่าง "ซาอุดีอาระเบีย" และ "จีน" ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงชิป AI ของสหรัฐ เมื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของราชอาณาจักรอ่าวเปอร์เซีย มีความเกี่ยวข้องกับนักวิจัยชาวจีน ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐ หนึ่งพันธมิตรอาจเกิดความไม่พอใจ

สำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานถึง ความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ระหว่าง "ซาอุดีอาระเบีย" และ "จีน" ได้ก่อให้เกิดความกังวลภายในสถาบันการศึกษาชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อการเข้าถึง "ชิป" ที่ผลิตโดยสหรัฐ ของมหาวิทยาลัยซึ่งมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่

หลังจากที่ศาสตราจารย์จินเชา ซู(Jinchao Xu) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี King Abdullah (Kaust) แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้เปิดตัว AceGPT ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่เน้นภาษาอาหรับ โดยพัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง เซินเจิ้น (CUHK-SZ ) และสถาบันวิจัยบิ๊กดาต้าเซินเจิ้น

กังวลสัมพันธ์ "สหรัฐ" และ "จีน"

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของซาอุดีอาระเบียในการเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในระดับภูมิภาค การสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และการเปิดตัว LLM ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นโดยจีน จากเทคโนโลยีที่สนับสนุนระบบ AI เชิงสร้างสรรค์ เช่น แชตบอต เช่นเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีโรงไฟฟ้าในอ่าวเปอร์เซียกำลังพยายามแข่งขันกับบริษัท AI และสร้างแบบจำลองตามความต้องการสำหรับผู้พูดภาษาอาหรับ

ทำให้เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นระหว่างพันธมิตรดั้งเดิมระหว่างฝั่ง "สหรัฐ" และ "จีน"

 

ขณะเดียวกันสหรัฐได้ขยายข้อกำหนดใบอนุญาตส่งออกสำหรับหน่วยประมวลผลกราฟิกที่ผลิตโดย บริษัทชิปยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia และ AMD บริษัทพัฒนาชิปประมวลผล และการ์ดจอ (หนึ่งในผู้ผลิตชิปให้กับ Meta หรือ เฟซบุ๊ก) เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานของจีนเข้าถึงชิปล้ำสมัยที่มีความสำคัญในการสร้างโมเดล AI เชิงสร้างสรรค์ แต่ฝ่ายบริหารของ Biden ไม่หยุดที่จะปิดกั้นการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม บุคลากรในมหาวิทยาลัย Kaust ที่มีความต้องการชิปเหล่านี้ ยังคงเชื่อว่า การจำกัดความร่วมมือของจีนนั้นมีความสำคัญต่อการส่งมอบชิปในอนาคต

“หลายคนในอุตสาหกรรมได้ยกข้อกังวลเกี่ยวกับ ความเป็นผู้นำ และความสัมพันธ์ของจีนที่เป็นอันตรายต่อซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และไม่ต้องการทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่พอใจ”

AI อาวุธทางปัญญาในสมรภูมิ

AI ได้กลายเป็นหนึ่งอาวุธทางปัญญาในสมรภูมิระดับภูมิภาคของการแข่งขันระหว่าง "จีน-สหรัฐ" ซึ่งในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งริยาด และอาบูดาบี มุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่เฟื่องฟูเพื่อพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนด้านความปลอดภัยหลักของพวกเขาด้วย

ที่ผ่านมาอาบูดาบีได้เปิดตัวโมเดล "Falcon เวอร์ชันใหม่" โดยอ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า Meta Llama 2 ถึงสองเท่า ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นโมเดล "โอเพ่นซอร์ส" ที่ซับซ้อนที่สุด ที่ผลิตโดย G42 ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมโดย Sheikh Tahnoon bin Zayed al-Nahyan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเคยร่วมมือกับจีนในด้านวัคซีน และการทดสอบในห้องปฏิบัติการ  และการเปิดตัว LLM ภาษาอาหรับด้วย

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สหรัฐ กำลังขยายความพยายามที่เชื่อมสัมพันธ์ในแถบอ่าวไทยให้ห่างจากจีน รวมถึงการสนับสนุนทางรถไฟ และเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมอินเดีย และยุโรปผ่านตะวันออกกลาง

เมื่อ KAUST เกี่ยวข้องจีนมากขึ้น

เมื่อโทนี่ ชาน (Tony Chan) ประธาน Kaust ขยายขอบเขตการเข้าถึงไปยังประเทศจีน ด้วยการลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยในเซินเจิ้นเพื่อแบ่งปันความสามารถในการวิจัย และการแลกเปลี่ยนความสามารถ โดยในเดือนก่อนได้ร่วมเขียนเรียงความในนโยบายต่างประเทศหัวข้อ “อเมริกาไม่สามารถหยุดยั้งการผงาดขึ้นของจีนได้ และมันควรจะหยุดพยายาม”

Kaust กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างซาอุดีอาระเบีย-จีน ที่กำลัง “เฟื่องฟู” โดยเห็นได้จากจำนวนนักวิชาการชาวจีนที่มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 20% นักวิจัยหลังปริญญาเอก 34% และคณาจารย์ 9% 

โดยเจ้าหน้าที่ของ Kaust กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในจีนเสนอนักศึกษาฝึกงานที่ถูกกว่า และนักศึกษาที่สามารถจัดการงานประจำได้ รวมถึงความสามารถในการทดสอบ GPU และการกรองข้อมูล

ทำให้ KAUST ของซาอุฯ พยายามอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้โครงการริเริ่มด้าน AI ที่ Kaust นำโดยเจอร์เก้น ชมิดฮูเบอร์ (Jurgen Schmidhuber)  นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวเยอรมัน ที่กำลังพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังยิ่งขึ้นที่ชื่อว่า Shaheen III ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพลังการประมวลผลให้มากกว่าระบบที่มีอยู่ถึง 20 เท่า

เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าของ  LLM ใหม่ Kaust อธิบายว่าโครงการ AceGPT เป็น "โครงการวิจัยรายบุคคลโดยอาจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ดำเนินการบนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Kaust Shaheen III ซึ่ง แชตบอตได้รับการฝึกฝนเป็นภาษาอาหรับ จีน และอังกฤษ

Kaust พยายามอธิบายว่าได้มีความสัมพันธ์กับหลายประเทศทั่วโลก และการลงทุนใน GPU นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชนวิชาการในการลงทุนโครงการที่มีความสำคัญต่อราชอาณาจักร

และกล่าวว่า "ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านการวิจัย ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลอื่นๆ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ หากไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล” 

การพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Shaheen III 

โดยมหาวิทยาลัยได้เซ็นสัญญากับ Hewlett Packard Enterprise(HPE) เป็นองค์กรข้ามชาติอเมริกันเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งมอบระบบ Shaheen III ซึ่งบริษัทสหรัฐ เลือกใช้ชิปจาก Nvidia โดยที่ Kaust ไม่ได้ซื้อชิปโดยตรงจาก Nvidia 

HPE กล่าวว่ากำลังติดตามการควบคุมการส่งออกและยังคง "มุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าของเราทั่วโลกตามแนวทางของรัฐบาลสหรัฐ"

Kaust ยังกล่าวอีกว่า บริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบควบคุมการส่งออกของสหรัฐ และมีกรอบการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบในการปกป้องเพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนา Shaheen III ได้

“การเข้าถึงซอฟต์แวร์กายภาพ และซอฟต์แวร์ระบบของ Shaheen III นั้นจำกัดเฉพาะผู้ดูแลระบบ Kaust Core Labs และทีมงานของ Hewlett Packard Enterprise” กล่าว

อ้างอิง ft 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์