ส่อง "ขุมกำลัง" ที่สหรัฐส่งไปอิสราเอล กองเรือสหรัฐ "ใหญ่และแพง" แค่ไหน
ในที่สุด ขุมกำลังชุดแรกที่สหรัฐส่งไปช่วยเหลืออิสราเอลเพื่อทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ก็เดินทางไปถึงที่หมายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้วเมื่อวันที่ 10 ต.ค.
ในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐมักส่ง "กองเรือที่ 6" (Sixth Fleet) หรือกองเรือสหรัฐประจำภาคพื้นยุโรป-แอฟริกา ไปร่วมปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลางอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดสงครามหรือการปะทะกันเกิดขึ้น เช่น สงครามยมคิปปูร์ ในปี 1973
กองเรือสหรัฐที่มุ่งหน้าไปยังอิสราเอลในครั้งนี้ นำโดยเรือบรรทุกอากาศยาน "ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด" (USS Gerald R. Ford) เรือรบที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดและมีระบบทันสมัยที่สุดในโลก ซึ่งมาพร้อมฝูงเรือลาดตระเวณติดขีปนาวุธนำวิถี 1 ลำ เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี 4 ลำ และฝูงบินรบ F-35, F-15, F-16 และ A-10
ภายหลังจากที่อิสราเอลถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสออกปฏิบัติการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 และทำให้อิสราเอลประกาศทำสงครามตอบโต้ทันที รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ ลอยด์ ออสติน ก็ได้ประกาศตามมาในช่วงข้ามคืนว่าจะส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พร้อมด้วยลูกเรือและเครื่องบินรบประมาณ 5,000 นาย เพื่อไปช่วยเหลืออิสราเอล
มีรายงานข่าวระบุด้วยว่า สหรัฐอาจพิจารณาส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินไปเพิ่มเติมอีก ซึ่งก็คือเรือ "ยูเอสเอส ดไวท์ ดี ไอเซนฮาว" (USS Dwight D. Eisenhower) ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางออกจากฐานทัพในนอร์ฟอร์ก สหรัฐ ในสัปดาห์นี้
สำหรับแสนยานุภาพของกองเรือสหรัฐที่ส่งไปช่วยอิสราเอลครั้งล่าสุด มีดังนี้
- เรือบรรทุกอากาศยาน USS Gerald R. Ford
เรือบรรทุกอากาศยาน (Aircraft carrier) หรือที่เรียกว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน คือเรือรบขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาให้เป็น "ฐานทัพกลางทะเล" ได้ สามารถรับส่งอากาศยานเพื่อวางกำลังทางอากาศ และเพิ่มระยะทำการของกำลังทางเรือให้สามารถสนับสนุนการใช้กำลังทางอากาศให้ได้ระยะทางมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาฐานบินบนบก
และเรือ "ยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์ ฟอร์ด" ก็คือเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและว่ากันว่ามีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในโลกจากสหรัฐ มีขนาดกว้าง 250 ฟุต และยาว 1,106 ฟุต ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ 2 เครื่องยนต์ที่สามารถทำงานได้นานถึง 25 ปี โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง
เรือลำนี้ยังมีระวาง 112,000 ตัน มากกว่าแชมป์เก่าของสหรัฐอย่างเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-class carrier) ราว 12,000 ตัน และมากกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ล่าสุดของจีน ฝูเจี้ยน (Fujian) ราว 32,000 ตัน โดยเรือลำนี้เริ่มประจำการครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2022 มีลูกเรือประมาณ 4,500 คน
รัฐบาลสหรัฐใช้งบประมาณก่อสร้างและพัฒนาเรือยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์ ฟอร์ด มากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 6.6 แสนล้านบาท) โดยเป็นค่าวิจัยและพัฒนา 4,700 ล้านดอลลาร์ และค่าก่อสร้าง 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ สามารถบรรทุกฝูงบินได้ 90 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพด้วย
นอกจากเครื่องบินขับไล่ที่เป็นพระเอกหลักของกำลังรบ ตัวเรือบรรทุกเครื่องบินเองก็มีจุดเด่นที่ "ระบบป้องกันขีปนาวุธ" ถึง 4 ตัว พร้อมระบบปืนหลายแบบ เช่น ระบบป้องกันระยะประชิดฟาลังซ์ (Phalanx CIWS) ซึ่งเป็นระบบปืนกล 20 มม. มีเรดาห์ตรวจจับเป้าหมาย ใช้สำหรับป้องกันตนเองจากอาวุธปล่อยนำวิถี
โดยปกติแล้ว การส่งเรือบรรทุกอากาศยานไปปฏิบัติภารกิจมักจะไปในรูปแบบของกองเรือบรรทุกอากาศยาน (carrier strike group) คือ มีเรือบรรทุกอากาศยานเป็นศูนย์กลางพร้อมฝูงเรือสนับสนุน เช่น เรือพิฆาต เรือลาดตระเวณ และเรือดำน้ำ ปัจจุบันสหรัฐมีกองเรือเช่นนี้ทั้งหมด 11 กอง และแต่ละกอง "มีแสนยานุภาพทางการทหารเทียบเท่าประเทศขนาดกลางหรือขนาดเล็ก"
ฝูงเรือเรือลาดตระเวณและเรือพิฆาต
- เรือลาดตระเวณติดขีปนาวุธนำวิถี USS Normandy
เป็นเรือลาดตระเวณชั้นติคอนเดอโรกา (Ticonderoga Class) หรือชั้นเรือรบในประเภทเรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถี มีจุดเด่นที่ระบบอำนวยการรบเอจีส (Aegis) และระบบเรดาร์
- เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี USS Ramage
- เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี USS Thomas Hudner
- เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี USS Carney
- เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี USS Roosevelt
เหล่านี้ล้วนเป็นเรือพิฆาตชั้นอาลีห์เบิร์ก (Arleign Burke Class) ของกองทัพเรือสหรัฐ เรือพิฆาตชั้นนี้มีจุดเด่นที่ระบบอำนวยการรบเอจีส และยังมีการติดตั้งระบบอาวุธนำสมัยต่างๆ เช่น ขีปนาวุธโทมาฮอว์ก อาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน (Harpoon) ฝูงเรือเหล่านี้มีศักยภาพหลากหลายตั้งแต่การต่อต้านอากาศยาน ต่อต้านเรือ มีอำนาจการยิงไกลกำหนดเป้าหมายภาคพื้นดิน ไปจนถึงระบบตรวจการณ์และสงครามอิเล็กทรอนิกส์
เรือพิฆาตยูเอสเอส แรมเมจ เปิดตัวในปี 1994 โดยคาดว่ามีราคากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เรือพิฆาตยูเอสเอส โทมัส ฮัดเนอร์ ซึ่งเปิดตัวในปี 2017 มีราคา 663 ล้านดอลลาร์ มีการติดตั้งอาวุธหลายประเภทตั้งแต่ปืน มิสไซล์ ไปจนถึงตอร์ปิโด
- ฝูงบินขับไล่ F-35 (ส่วนหนึ่งของอากาศยานทั้งหมด)
ฝูงบินรบรุ่นใหม่เจน 5 ที่สามารถบินได้เร็วถึง 1,200 ไมล์ต่อชั่วโมง สามารถติดตั้งอาวุธได้พร้อมสรรพทั้งปืน มิสไซล์ และระเบิด มีระยะยิงไกล 1,200 ไมล์ และมีราคาประมาณลำละ 100 ล้านดอลลาร์
- มีเจ้าหน้าที่ประจำกองเรือทั้งหมดราว 7,500 นาย
และทั้งหมดก็คือแสนยานุภาพของกองเรือรบขนาดย่อม เทียบเท่าได้กับกำลังรบของประเทศขนาดกลางหรือขนาดเล็กทั้งประเทศ ที่สหรัฐระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า "สหรัฐจะมอบทุกสิ่งที่อิสราเอลต้องการ" ในการทำสงครามปกป้องตนเองครั้งนี้