10 ปี โครงการ BRI จีนต้องการสื่ออะไรต่อโลก?
10 ปี โครงการ BRI จีนได้จัดทำ "สมุดปกขาว" เพื่อสื่อสารกับโลกถึงความสำคัญและเผยแพร่ผลลัพธ์ของโครงการที่จีนยกให้เป็นโครงการ "เพื่อโลก" และเป็นแกนหลักของแนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน
โครงการริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI (Belt and Road Initiative) เป็นโครงการข้อริเริ่มความร่วมมือระหว่างจีนกับนานาประเทศ ที่เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ.2556) หรือ 10 ปีที่ผ่านมา โดยต่อยอดจากเส้นทางสายไหมโบราณ ที่เป็นเส้นทางการค้าของจีนกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเท่าที่มีการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์จีน ระบุว่า เริ่มต้นในสมัยศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ที่รุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่งคือสมัยราชวงศ์ถัง โดยมีเมืองฉางอันหรือซีอาน มณฑลส่านซี ณ ปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางหลัก
อีกชื่อหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จึงมีชื่อว่า เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 โดยจีนแสดงให้เห็นว่า จีนมีความสำคัญต่อการค้าและด้านความร่วมมือกับโลกมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงเดินหน้าต่อเนื่องในปัจจุบัน
อ้ายจงเคยอาศัยอยู่ที่เมืองซีอาน เมืองศูนย์กลางเส้นทางสายไหมโบราณ ในช่วงปี 2557-2561 ทำให้ได้สัมผัสถึงประสบการณ์ในโครงการดังกล่าว ที่ทางจีนเองพยายามผลักดันให้เมืองซีอานเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของโครงการ BRI ด้วย ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การค้าและเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย ทำให้เราได้เห็นหลายโครงการเกิดขึ้นที่ซีอานและเปิดกว้างเชื่อมโยงกับระดับนานาชาติ
จากเรื่องราวข้างต้นจะเห็นว่า โครงการ BRI ของจีน เป็นดั่งโครงการนำร่องที่จีนจะบรรลุเป้าหมาย "ความฝันของจีน" คือการฟื้นฟูครั้งใหญ่ของจีน ตามที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนเมื่อปี พ.ศ.2555 และนำมาสู่แนวคิด "ความทันสมัยอันมีอัตลักษณ์แบบจีน" ที่จีนกำลังมุ่งมั่น ณ ขณะนี้
ภายใต้ความฝันของจีน ในการฟื้นฟูครั้งใหญ่และการพัฒนาสู่ความทันสมัยอันมีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบจีน เราได้เห็นการเน้นย้ำของจีนอยู่เสมอ ในแง่ของจีนไม่ได้พัฒนาแค่ตนเองเท่านั้น แต่การพัฒนาของจีนยังต้องการแบ่งปันอนาคตร่วมกันกับมนุษยชาติ ดังคำสำคัญที่เราได้เห็นจีนสื่อสารออกมาในรูปแบบของโครงการและข้อริเริ่มต่างๆ อาทิ BRI การร่วมมือแบบพหุภาคี การพัฒนาระดับโลก (GDI) และประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน (Global Community of Shared Future) ที่ทางรัฐบาลจีนเพิ่งเผยแพร่ สมุดปกขาว อธิบายแนวคิดดังกล่าวเมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
เมื่อครบรอบ 10 ปี โครงการ BRI จีนได้จัดทำสมุดปกขาว เพื่อสื่อสารกับโลกถึงความสำคัญและเผยแพร่ผลลัพธ์ของโครงการที่จีนยกให้เป็นโครงการ "เพื่อโลก" และเป็นแกนหลักของแนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้
1. โครงการ BRI ไม่ใช่โครงการแค่ของจีน แต่เป็นโครงการของทั้งโลก จีนเน้นสาระสำคัญถึงโครงการนี้ของจีนว่า "ริเริ่มโดยจีน" แต่ผลประโยชน์ไม่ได้มีแค่จีน หรือเพียงบางกลุ่ม แต่เป็นผลประโยชน์ทั่วโลก เนื่องจากเกิดการร่วมมือทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่จีนระบุว่า "ช่วยแก้จนและสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน" แก่ประเทศเหล่านั้น สอดคล้องกับการแสดงจุดยืน ที่จีนได้สื่อสารกับเวทีโลกอยู่บ่อยครั้งว่า "การพัฒนาของจีน ไม่ใช่ความเสี่ยงต่อโลก แต่เป็นประโยชน์ต่อโลก"
2. จีนยกโครงการ BRI เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของแนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน และอีกหลายโครงการ-ข้อริเริ่มที่เป็นลักษณะการร่วมมือกันระหว่างจีนกับนานาประเทศ
ในรายละเอียดของ สมุดปกขาว ที่จีนระบุถึง BRI เป็นการร่วมมือที่ไม่อิงต่อการแบ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์ อันเป็นแนวคิดสำคัญของประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันที่จีนนำเสนอ และยังมีนัยถึงการต่อต้านบางประเทศที่จีนมองว่า "กำลังควบคุมโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Globalization) โดยฝ่ายเดียว หรือแค่ไม่กี่ประเทศ" ซึ่งก่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ซึ่งในประเด็นการควบคุมโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ ก็เกี่ยวเนื่องกับการที่จีนยกประเด็น "การกีดกันทางการค้า" และ "การแบ่งฝักฝ่าย" ที่จีนย้ำเสมอว่า ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นข้อตอบโต้ของจีนต่อฝั่งอเมริกาและพันธมิตรในทุกครั้งที่มีประเด็นข้อพิพาททั้งการค้าและภูมิรัฐศาสตร์
3. จีนย้ำ "ผลประโยชน์จาก BRI" เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ โครงการ BRI ของจีน เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์ จากบางประเทศและบางสื่อว่า การเข้าไปลงทุนและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาจก่อให้เกิดหนี้มหาศาล เราจึงได้เห็นจีนแสดงจุดยืนในข้อนี้ว่า ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการพัฒนา และไม่ใช่กระจุกอยู่แค่บางกลุ่ม แต่เป็นการกระจาย โดยมีจุดสำคัญลดการเหลื่อมล้ำทั้งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และภายในของแต่ละประเทศเอง
ในสมุดปกขาวที่จีนเผยแพร่ครั้งนี้ จึงชูประเด็นผลลัพธ์ในโครงการ BRI เพื่อเป็นการสื่อสารว่า "การลงทุนที่เคยโดนมองว่าก่อให้เกิดการกู้เงินจำนวนมากไปลงทุน" มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ดังที่จีนได้อ้างอิงการคาดการณ์ของธนาคารโลก ว่าภายในปี 2573 การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ BRI จะช่วยเหลือประชากร 7.6 ล้านคน ออกจากความยากจนขั้นรุนแรง และจะช่วยเหลือประชากร 32 ล้านคน จากความยากจนปานกลาง
4. BRI เป็นโครงการที่มีการเชื่อมโยงทั่วทั้งโลกอย่างแท้จริง เมื่อจีนเชื่อมโยงโครงการ BRI ว่าเป็นแกนหลักของแนวคิดประชาคมโลกที่มีอนาคตโลกร่วมกัน ดังนั้น คำว่า "ประชาคมโลก" จะไม่เกิด หากไปกระจุกอยู่บางกลุ่ม และบางประเทศ เราจึงได้เห็นจีนเน้นย้ำตั้งแต่การแถลงข่าวการเผยแพร่สมุดปกขาว BRI และในตัวรายละเอียดของเอกสารเอง ก็เขียนชัดเจนถึงจำนวนประเทศและหน่วยงานระดับนานาชาติมีความร่วมมือในโครงการ BRI กับจีน
โดยในรอบ 10 ปี จีนลงนามข้อตกลงความร่วมมือ BRI มากกว่า 200 ฉบับ กับกว่า 150 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 30 องค์กร และจีนยังอ้างถึงมติของสหประชาชาติว่า 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รับรองให้โครงการ BRI รวมอยู่ในมติของสหประชาชาติ และจีนยกให้ BRI เป็นโครงการที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ การอ้างถึงสหประชาชาติของจีน คือการสื่อถึง "ความเป็นระดับนานาชาติ" อย่างแท้จริง ดังเช่นประเด็นจีนเดียว ที่จีนยกมติการรับรองของสหประชาชาตินั่นเอง
นอกจากในแง่ของจำนวนประเทศและหน่วยงานนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับจีนในโครงการแล้ว คำว่า "เชื่อมโยงทั่วโลก" จีนยังตีความในแง่ของการคมนาคมและขนส่งโลจิสติกส์ หรือห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ที่เป็นเบื้องหลังสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า และมักจะได้รับผลกระทบจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกปั่นป่วน ยังคงเป็นปัญหา ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความพยายามแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน" ที่จีนยกเป็นข้อตำหนิอเมริกาว่าพยายามกระทำการดังกล่าว
ในข้อนี้เราจึงเห็นการเน้นย้ำในเอกสารว่า การลงทุนทางด้านคมนาคมและเส้นทางการขนส่ง เป็นหนึ่งในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในจีนและประเทศความร่วมมือ BRI ที่สำคัญ และก่อให้เกิดผลลัพธ์จริงดังตัวเลขมูลค่าสะสมของการนำเข้าและส่งออกระหว่างจีนและประเทศความร่วมมือ BRI ตลอดระยะเวลา 10 ปี อยู่ที่ราว 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.4% ต่อปี และเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และเข้าสู่ไทยในอนาคต เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญใน BRI เช่นกัน
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่