MYAirline หยุดบินใน "มาเลย์-ไทย" ทำไมสายการบินใหม่ถึงไปไม่รอด

MYAirline หยุดบินใน "มาเลย์-ไทย" ทำไมสายการบินใหม่ถึงไปไม่รอด

สายการบินโลว์คอสต์ในมาเลเซีย "มายแอร์ไลน์" หยุดให้บริการแล้วหลังเปิดตัวได้แค่ 11 เดือน กระทบเที่ยวบินมา "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ" ด้วย

เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2566 หรือประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา คนไทยเพิ่งจะมีตัวเลือกในการเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มมาอีกราย คือ สายการบินประหยัดสัญชาติมาเลเซียที่ชื่อว่า "มายแอร์ไลน์" (MYAirline) ซึ่งเลือก "กรุงเทพฯ" เป็นจุดหมายแรกของการขยายเส้นทางออกไปต่างประเทศ โดยมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์สู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 

ปัจจุบันมายแอร์ไลน์มีเส้นทางบินระหว่างมาเลเซียกับไทยโดยมีมาลงทั้งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และมีรายงานข่าวว่าบริษัทยังมีแผนที่จะขยายเที่ยวบินไปลง "ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่" ด้วย

ทว่าเมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) สายการบินมายแอร์ไลน์กลับประกาศหยุดบินแบบสายฟ้าแลบตั้งแต่เวลา 05.30 น. หรือราว 04.30 น. ตามเวลาในไทย โดยได้ระบุบนเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของบริษัทว่า ทางสายการบินต้องระงับการให้บริการเป็นการชั่วคราว โดยมีผลทันที เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก

การระงับเที่ยวบินทั้งหมด 39 เที่ยวบินทันที รวมถึงเที่ยวบินที่ดอนเมือง ส่งผลให้มีผู้โดยสาร 5,000 คนถูกทิ้งที่สนามบินทั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และสนามบินอื่นๆ และคาดว่าจะมีผลกระทบตามมาอีก เนื่องจากสายการบินได้ขายตั๋วล่วงหน้าไปแล้วถึง 125,000 ใบ คิดเป็นเงินราว 20 ล้านริงกิต (ราว 150 ล้านบาท) โดยมีกำหนดบินไปจนถึงเดือน มี.ค. 2567

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเองก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า สายการบิน MYAirline แจ้งขอยุติการให้บริการของสายการบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.นี้เป็นต้นไป หากผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการของสายการบิน สามารถติดต่อสอบถามขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail สายการบิน [email protected]

เหตุใดสายการบินโลว์คอสต์น้องใหม่ที่มาแรงถึงไปไม่รอดทั้งที่เปิดตัวมาได้แค่ 11 เดือน 

MYAirline หยุดบินใน \"มาเลย์-ไทย\" ทำไมสายการบินใหม่ถึงไปไม่รอด

แข่งรายใหญ่ "แอร์เอเชีย" ไม่ไหว บริษัทขาดสภาพคล่องหนัก

เว็บไซต์ข่าวสารด้านการบิน ซิมเพิลฟลายอิง ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์นี้ว่า การประสบปัญหาจนต้องหยุดบินชั่วคราวเป็นสิ่งที่ไม่ได้น่าประหลาดใจหากมองจากพื้นฐานว่า คู่แข่งที่ต้องแข่งขันด้วยคือ "แอร์เอเชีย" ซึ่งเป็นรายใหญ่ของตลาดและครองส่วนแบ่งไปแล้ว 50% ส่วนคู่แข่งรายอื่น เช่น มาเลเซีย แอร์ไลน์ส ก็ยังถือเป็นรายใหญ่ในตลาดเช่นกันเพราะเป็นระดับสายการบินแห่งชาติของมาเลเซีย   

นักวิเคราะห์มองว่า มายแอร์ไลน์ใช้จังหวะเข้ามาแข่งขันในช่วงที่แอร์เอเชียกำลังอ่อนแอลง หลังเผชิญผลกระทบยาวจากโควิด-19 แต่ถึงแม้ว่าจะอ่อนแอลง แต่แอร์เอเชียก็ยังคงเป็นรายใหญ่และเป็นจ้าวตลาดอยู่ ท่ามกลางเครื่องบิน 209 ลำ (ณ สิ้นปี 2565) ขณะที่มายแอร์ไลน์เริ่มต้นจาก 3 ลำ และขยายสัญญาเช่าเครื่องบินเพิ่มอีกเป็น 8 ลำในปัจจุบัน  

ที่สำคัญก็คือ "การแข่งขันด้านราคา" เพราะแม้ว่าจะแข่งขันได้ในแง่ยอดขายตั๋ว แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้มากนักเพราะใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคากับตั๋วราคาถูกเป็นพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่โลว์คอสต์ปกติ แต่เป็น Ultra lowcost 

นอกจากนี้ การขยายเที่ยวบินมายังกรุงเทพฯ โดยมาลงถึง 2 สนามบินทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ยังถูกมองว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงด้วย 

ในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า มายแอร์ไลน์รู้สึกเสียใจที่ต้องแจ้งให้ทราบถึงการระงับการบินชั่วคราว (Suspension) ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้ง การตัดสินใจที่ยากลำบากนี้เกิดจากแรงกดดันด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้ต้องระงับการให้บริการระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการเพิ่มทุนของสายการบิน

"เราได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อเสาะหาความร่วมมือต่างๆ และแนวทางในการระดมทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการระงับการบิน แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดสินใจครั้งนี้" 


รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้โดยสาร  

คณะกรรมการด้านการบินแห่งมาเลเซีย (MAVCOM) ได้มีคำสั่งให้มายแอร์ไลน์รับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าโดยสาร แก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบิน พร้อมสั่งการให้ยุติการขายตั๋วโดยสาร และการสำรองที่นั่งผ่านแพลตฟอร์มการจองทั้งหมด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ขณะที่คณะกรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้เปิดสายด่วนและช่องทางเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับผู้โดยสารในประเทศมาเลเซีย สามารถติดต่อสายด่วนได้ที่หมายเลข 1-800-186-966 หรืออีเมล [email protected] หรือกรอกแบบฟอร์มที่เว็บไซต์ https://flysmart.my/make-a-complaint/

ทางด้านสายการบินเอกชนก็เข้ามาช่วยเหลือเฉพาะหน้าผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการออกตั๋วราคาถูกและตั๋วลด 50% โดยสายการบินแอร์เอเชียมอบส่วนลดค่าตั๋ว 50% จากราคาปกติ (ไม่รวมภาษีสนามบินและค่าธรรมเนียมอื่นๆ) สำหรับเที่ยวบินไป-กลับจากกัวลาลัมเปอร์ และเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ขณะที่สายการบินบาติกแอร์ ในเครือไลอ้อนกรุ๊ป เสนอตั๋วเที่ยวเดียวในราคาพิเศษให้ผู้โดยสารที่ถูกกระทบเช่นกัน 

ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านการบินแห่งมาเลเซียจะพิจารณาว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตของมายแอร์ไลน์ ที่กำลังจะหมดอายุในเดือนหน้านี้ หรือไม่