'การทูต'หรือ'กำลังทหาร'ทางเลือกสหรัฐแก้วิกฤติอิสราเอล

'การทูต'หรือ'กำลังทหาร'ทางเลือกสหรัฐแก้วิกฤติอิสราเอล

การเดินทางเยือนนครเทลอาวีฟ อิสราเอล เป็นเวลา 7.5 ชั่วโมงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐสนับสนุนอิสราเอล แต่กลับพลาดเป้าหมายสำคัญที่ไม่อาจเอาชนะใจผู้นำชาติอาหรับได้

ถึงขณะนี้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความพยายามทางการทูตของไบเดนเพื่อป้องกันวิกฤติบานปลายแทบปิดประตูตาย แล้วสหรัฐจะทำอย่างไรได้หลังจากนี้ถ้าไม่ใช่กำลังทหารป้องปรามตัวละครอื่นเข้ามาร่วมวง 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ท่ามกลางสัญญาณเพิ่มมากขึ้นทุกขณะว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสอาจเอาไม่อยู่ ประธานาธิบดีไบเดนไปเยือนอิสราเอลเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐจะปกป้องพันธมิตรรายนี้ ทั้งยังเป็นการส่งสารอย่างชัดเจนไปถึงคู่อริในภูมิภาคอย่างอิหร่านไม่ให้เข้ามาข้องเกี่ยว ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งลำเข้ามาในพื้นที่ อีกลำอยู่ระหว่างเดินทาง นอกจากนี้ไบเดนยังรับปากให้ความช่วยเหลือชุดใหม่ “อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” แก่อิสราเอล 

ส่วนความกังวลต่อวิกฤติมนุษยธรรมในกาซา ไบเดนพยายามคลายความกังวลโดยเผยระหว่างเดินทางกลับสหรัฐว่า ตนได้คุยกับอียิปต์ให้เห็นชอบเปิดทางรถบรรทุกความช่วยเหลือเข้าไปกาซาได้ในวันศุกร์ (20 ต.ค.) หลังจากถนนหนทางได้รับการซ่อมแซมแล้ว ด้านทางการอิสราเอลกล่าวว่าจะอนุญาตให้ความช่วยเหลือเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าไม่ตกไปอยู่ในมือกลุ่มฮามาส ที่ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย

จุดเปลี่ยนแผนการดำเนินมาตรการทางการทูตของไบเดนเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงเกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (17 ต.ค.) จากเหตุถล่มโรงพยาบาลในกาซา มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ประธานาธิบดีสหรัฐเข้าข้างอิสราเอลที่กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ยิงขีปนาวุธพลาดไปตกที่โรงพยาบาล ขณะที่ผู้นำชาติอาหรับเชื่อคำกล่าวของทางการกาซาที่ควบคุมโดยฮามาสว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล พวกเขาพากันยกเลิกแผนประชุมร่วมกับไบเดนที่จอร์แดนในวันพุธ 

ซาราห์ พาร์กินสัน อาจารย์รัฐศาสตร์และการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอพกินส์ กล่าวว่า การเยือนเทลอาวีฟของไบเดนแสดงถึงการสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลอย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไข “นั่นบั่นทอนความสัมพันธ์ในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว”

ไบเดนกล่าวว่า ตนตัดสินใจเข้าข้างอิสราเอลหลังเห็นข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม ที่มาจากภาพถ่ายโรงพยาบาลจากดาวเทียมและการดักฟังบทสนทนาของฮามาส ต่อมาทำเนียบขาวประกาศว่าผลการวิเคราะห์ข่าวกรองยืนยันข้ออ้างของอิสราเอลที่ว่า อิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดโรงพยาบาล

สัปดาห์นี้ไบเดนเตรียมเสนอชุดความช่วยเหลืออิสราเอล “อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ต่อสภาคองเกรส ทางการสหรัฐเผยว่า บริษัทโบอิงกำลังเร่งส่งมอบชุดจีพีเอสนำทางทิ้งระเบิดให้กับอิสราเอล

อย่างไรก็ตามหลังพบกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูและคณะรัฐมนตรีสงครามของเขา ไบเดนเตือนผู้นำอิสราเอลถึงแผนตอบโต้ฮามาส

“ผมเตือนว่า ขณะที่คุณรู้สึกโกรธเกรี้ยว อย่าจมไปกับมัน หลัง 9/11 เราโกรธแค้นมากในสหรัฐ และขณะที่เราแสวงหาความยุติธรรมและได้รับความยุติธรรม เราเองก็เคยทำผิดพลาด” ไบเดนหมายถึงการที่สหรัฐเข้าไปทำสงครามยาวนานในอิรักและอัฟกานิสถาน

โจนาธาน พานิคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจากกลุ่มคลังสมองสภาแอตแลนติกมองว่า การชนะใจผู้นำอาหรับเป็นเรื่องยากอยู่แล้วแม้แต่ก่อนเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาล

“ผู้นำอาหรับทั่วทั้งภูมิภาคต่างกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติตนเป็นอัันดับแรก และไม่อยากทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกสาธารณชนที่ต่อต้านอิสราเอลรุนแรงมาก”

แต่ในเมื่อทางการอิสราเอลกล่าวว่าพวกเขามุ่งมั่นตามแผนขจัดฮามาสให้สิ้นซากจากกาซา อีกทั้งอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อิหร่านหนุนหลังขู่โจมตีอิสราเอลทางตอนเหนือถ้าบุกกาซา ซึ่งเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งบานปลายไปอีก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีริชชี ซูแน็กของสหราชอาณาจักรอาจไปเยือนอิสราเอลในเร็ววันนี้ เป็นไปได้ว่าอาจซื้อเวลาได้เล็กน้อยก่อนการบุกกาซาภาคพื้นดิน

กล่าวได้ว่า สัปดาห์นี้ไบเดนใช้ความพยายามทางการทูตอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสขยายวง แต่ถ้าไม่สำเร็จสหรัฐอาจต้องพึ่งกำลังทหาร 

อย่าลืมว่า เพนตากอนส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด และกองเรือเข้ามายังเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้ว ส่วนกองเรือบรรทุกเครื่องบินดไวท์ ดี ไอเซ็นฮาวร์กำลังเดินทาง แต่ละกองมีเครื่องบินรบเอฟ/เอ-18 ซูเปอร์ฮอร์เนตและเครื่องบินทันสมัยอื่นๆ นอกจากนี้เพนตากอนยังสั่งนาวิกโยธินอีก 2,000 นายให้เตรียมความพร้อมระดมพลได้ทุกเมือง

รัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า กองเรือบรรทุกเครื่องบินและกำลังทหารดังกล่าวส่งมาเพื่อต้องการเตือนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและตัวแทนอิหร่านอื่นๆ ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อเมริกันรายหนึ่งเผยว่า สหรัฐยังส่งสารไปยังอีกหลายๆ ประเทศ เช่น กาตาร์ให้บอกอิหร่านว่าสหรัฐเอาจริงเรื่องการใช้กำลังทหารถ้าจำเป็น

ยูเอ็นเตือนความขัดแย้งเสี่ยงลุกลาม 

ทอร์ เวนเนสแลนด์ ผู้ประสานงานพิเศษด้านกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นนั้น กำลังผลักดันให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไปสู่หน้าผาของ “เหวอันตราย” และมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย

“โลกกำลังใกล้จะตกเหวที่ลึกและอันตรายที่ซึ่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจพลิกไปสู่สถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่น ความขัดแย้งนี้นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ต้องเผชิญในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา” เวนเนสแลนด์กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี)

ชนวนเหตุความขัดแย้งล่าสุดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ รวมถึง แทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลด้วย โดยกลุ่มฮามาสสังหารผู้คนไปมากกว่า 1,000 ราย และจับคนเป็นตัวประกันมากกว่า 200 ราย รวมทั้งเด็กเล็กและคนชรา

อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อฉนวนกาซา ซึ่งเป็นดินแดนปิดล้อมของปาเลสไตน์ที่ปกครองโดยกลุ่มฮามาส และนับตั้งแต่นั้นมา ฉนวนกาซาก็ถูกทิ้งระเบิดทางอากาศติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายวัน

เวนเนสแลนด์เตือนว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้จุดชนวนความคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน และทำให้พันธมิตรกลับมารวมตัวกันทั่วทั้งภูมิภาค ความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะแพร่กระจายออกไปนั้นมีโอกาสสูงเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

เวนเนสแลนด์ระบุว่า การพบปะกับผู้นำของอียิปต์มุ่งเน้นไปที่การหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถผ่านจุดผ่านแดนราฟาห์ได้ง่ายขึ้น โดยจุดผ่านแดนราฟาห์ตั้งอยู่ที่ริมชายแดนฉนวนกาซาและอียิปต์ และเป็นจุดข้ามแดนเพียงแห่งเดียวระหว่างอียิปต์และฉนวนกาซา

“ขั้นตอนต่อไปจะต้องเป็นความพยายามร่วมกันเพื่อยุติความเป็นศัตรู และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวในภูมิภาค” เวนเนสแลนด์กล่าว