วิจัยเผย 49% ของเด็กญี่ปุ่น ‘ไม่อ่านหนังสือ’
ยิ่งโตยิ่งอ่านน้อยลง! วิจัยเผย เด็กญี่ปุ่น 49% ไม่อ่านหนังสือ พบ “เด็กผู้หญิง” มีแนวโน้มรักการอ่านมากกว่า “เด็กผู้ชาย” ด้าน “พ่อแม่” มีส่วนสำคัญ ช่วยส่งเสริมนิสัยรักการอ่านระยะยาว หากปล่อยไว้กระทบการเรียนรู้-เป็นอุปสรรคต่อการคิดวิเคราะห์ในอนาคต
“ญี่ปุ่น” มักได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เด็กๆ มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ดีเลิศ ทักษะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งชาวญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อเรื่องความขยัน เข้มงวดกับตัวเอง รักการเรียนรู้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลจากผลวิจัยล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันการวิจัยด้านการเรียนรู้และการพัฒนาบีเนส (Benesse Educational Research and Development Institute) ระบุว่า กว่า 49% ของเด็กญี่ปุ่น “ไม่อ่านหนังสือเลย” ทั้งยังพบว่า นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายมีจำนวนชั่วโมงการอ่านต่ำกว่านักเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาล หรือพูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือยิ่งโตยิ่งอ่านน้อยลง ซึ่งลักษณะนิสัยการอ่านที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งความสามารถทางวิชาการด้วย
สถาบัน “บีเนส” ทำการเก็บผลสำรวจจาก 20,000 ครอบครัวที่มีเด็กๆ ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาเพื่อเผยแพร่ผลวิจัยก่อนที่งานสัปดาห์หนังสือจะเริ่มต้นขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าระหว่างวันที่ 27 ตุลาคมถึง 9 พฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้ โดย “บีเนส” ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบย้อนหลังและพบว่า ปี 2565 เด็กๆ มีสัดส่วนการอ่านหนังสือเฉลี่ย 15.2 นาทีต่อวัน ลดลงกว่า 3 นาทีเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2558 หากแยกตามเพศจะพบว่า เด็กผู้ชายใช้เวลาไปกับการอ่าน 13.7 นาทีต่อวัน และเด็กผู้หญิงอ่านโดยเฉลี่ย 16.4 นาทีต่อวัน
ทั้งนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า เด็กญี่ปุ่นกว่า 49% อ่านหนังสือเฉลี่ย “0 นาที” ต่อวัน ในจำนวน 49% นี้แบ่งออกเป็นนักเรียนชั้นประถมต้น (ประถม 1-3) 30.2% นักเรียนชั้นประถมปลาย (ประถม 4-6) 45.5% นักเรียนชั้นมัธยมต้น (มัธยม 1-3) 53.5% และนักเรียนชั้นมัธยมปลาย (มัธยม 4-6) 66.7% แสดงให้เห็นว่า ยิ่งโตขึ้นมากเท่าไรแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือก็น้อยลงก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ “บีเนส” ยังสำรวจลงลึกในระดับครัวเรือนพบว่า จำนวนหนังสือในบ้านมีผลต่อการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ หากมีหนังสือมากขึ้นแนวโน้มที่เด็กๆ เหล่านี้จะหยิบหนังสือมาอ่านก็เพิ่มตามไปด้วย โดยเด็กๆ จากครอบครัวที่มีหนังสือ 100 เล่มขึ้นไปมีสัดส่วนไม่อ่านหนังสือเลยราว 29.4% บ้านที่มีหนังสือ 30 ถึง 99 เล่ม มีแนวโน้มไม่อ่านหนังสือ 35.3% และบ้านที่มีหนังสือน้อยกว่า 30 เล่ม มีสัดส่วนไม่อ่านหนังสือเลยหรืออ่านหนังสือเป็น “0 นาที” ถึง 47.6% ด้านบทบาทของพ่อแม่ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่านมีแนวโน้มที่เด็กจะไม่อ่านหนังสือ 34.8% ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ให้ความสำคัญกับการอ่าน เด็กๆ มีแนวโน้มจะไม่อ่านหนังสือ 55.6%
นิสัยรักการอ่านจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องต้องสั่งสมบ่มเพาะตั้งแต่อายุน้อยๆ เด็กที่มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เริ่มต้นมีแนวโน้มจะรักษาระดับการอ่านหนังสือต่อไปจนโต “บีเนส” พบว่า เด็กที่อ่านหนังสือ 67.9 นาทีต่อวันในระดับประถมศึกษายังคงอ่านหนังสือด้วยเวลาเฉลี่ยเดียวกันในระดับชั้นมัธยม โดยเด็กที่มีนิสัยรักการอ่านมีแนวโน้มจะประสบปัญหาด้านการเรียนรู้ค่อนข้างน้อย พวกเขาระบุว่า ตนเองสามารถทำความเข้าใจแผนภาพ ตาราง และข้อมูลที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ได้ดี อ่านและทำความเข้าใจพร้อมทั้งสรุปออกมาตามความเข้าใจของตนเองได้ดีกว่าเด็กที่อ่านหนังสือน้อยกว่า
ทั้งนี้หากข้ามมาที่ฝั่งประเทศไทย เราอาจคุ้นเคยกับประโยคคลาสสิกที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด” ขณะที่สถิติจากเว็บไซต์ “World Population Review” ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราอ่านหนังสือต่อปีเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เฉลี่ยสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง 24 นาที รวมคนไทยอ่านหนังสือ 488 ชั่วโมงต่อปี เป็นรองเพียง “อินเดีย” ที่ครองแชมป์รักการอ่านอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลายปี และในปีนี้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 ถึง 23 ตุลาคม 2566 ยังเต็มไปด้วยบรรยากาศสุดคึกคักทั้งผู้บูทสำนักพิมพ์รวมทั้งนักอ่านที่ทยอยมาเยือนกันตลอด 10 วันนี้ด้วย
อ้างอิง: Mainichi, World Population Review