‘เก็บภาษีมหาเศรษฐีพันล้าน’ หนุนสภาพคล่องการคลังโลก
ถ้ามีการเก็บภาษีในอัตรา 2% จากความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีพันล้าน 2,700 คนทั่วโลก ที่มีมูลค่าราว 13 ล้านล้านดอลลาร์อาจเพิ่มรายได้แก่ประเทศต่างๆทั่วโลกประมาณปีละ 250,000 ล้านดอลลาร์
สถาบัน EU Tax Observatory เผยแพร่รายงานว่า รัฐบาลประเทศต่างๆควรใช้มาตรการใหม่เพื่อปราบปรามการเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศด้วยการเก็บภาษีขั้นต่ำกับบรรดาอภิมหาเศรษฐี ที่มีรายได้ระดับพันล้านดอลลาร์
สถาบันฯ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากกรุงปารีส ระบุว่า ถ้ามีการเก็บภาษีในอัตรา 2% จากความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 2,700 คนทั่วโลกที่มีมูลค่าราว 13 ล้านล้านดอลลาร์ อาจเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั่วโลกได้ประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 9.03 ล้านล้านบาทต่อปี
รายงานที่มีชื่อว่าการหลีกเลี่ยงภาษีทั่วโลก 2024 ระบุว่า มหาเศรษฐีพันล้านมักเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าประชาชนทั่วไป ขณะที่คนรวยเหล่านี้มีช่องทางเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถนำเงินไปเก็บไว้กับบริษัทตัวแทน หรือในบัญชีในต่างประเทศ เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศของตัวเอง
สถาบัน EU Tax Observatory ระบุว่า ปัจจุบันอัตราภาษีที่บรรดามหาเศรษฐีต้องจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% ในสหรัฐ และเกือบ 0% ในฝรั่งเศส
“แกเบรียล ซักแมน” นักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการ EU Tax Observatory บอกว่า “ในมุมมมองของเรา การเก็บภาษีมหาเศรษฐีพันล้านเป็นเรื่องยากที่จะเก็บได้อย่างเหมาะสม เพราะเสี่ยงบั่นทอนความยั่งยืนของระบบภาษีและอาจเผชิญหน้ากับการต่อต้านทางสังคม”
EU Tax Observatory ระบุว่า เนื่องจากการเติบโตของความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมในบางประเทศ จึงจุดชนวนเรียกร้องให้พลเมืองที่ร่ำรวยที่สุดรับภาระด้านภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคลังของรัฐบาลแต่ละประเทศต้องพยายามรับมือกับประชากรสูงวัย ,ความต้องการทางการเงินเพื่อปรับปรุงสภาพอากาศ และชำระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นักเศรษฐศาตร์และองค์กรการกุศลที่ไม่ใช่ของรัฐบาล ก็เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่ม G20 สร้างกฎระเบียบภาษีระดับชาติและระหว่างประเทศใหม่ เพื่อเป้าหมายอนาคตที่ดีกว่า
ขณะที่ในสหรัฐมีกลุ่มมหาเศรษฐี ที่เรียกว่ากลุ่ม 'Patriotic Millionaires 'ก่อตั้งในปี 2553 เรียกร้องให้ยกเลิกการลดภาษีมหาเศรษฐี โดยมีสมาชิกถาวร ทั้ง “เอบิเกล ดิสนีย์” ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และ “จอร์จ ซิมเมอร์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย Men’s Wearhouse
งบประมาณปี 2567 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ มีแผนเก็บภาษีมหาเศรษฐีขั้นต่ำ 25% จากกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งที่สุด 0.01% แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติที่กำลังหมกหมุ่นอยู่กับปัญหารัฐบาลเตรียมชัตดาวน์หน่วยงาน และใกล้ถึงกำหนดเบิกจ่ายงบประมาณ
แม้ความร่วมมือผลักดันให้เก็บภาษีมหาเศรษฐีพันล้านของนานาชาติอาจใช้เวลาขับเคลื่อนหลายปี แต่ EU Tax Observatory มองว่า รัฐบาลสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าลดโอกาสในการย้ายผลกำไรไปยังประเทศที่เรียกเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติในอัตราต่ำ
ภาพรวมในระดับทั่วโลก เมื่อปี 2021 ผู้แทนจาก 140 ประเทศบรรลุข้อตกลงกำหนดภาษีขั้นต่ำ 15% สำหรับบริษัทต่าง ๆ เพื่อจำกัดความสามารถของบรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีโยกย้ายผลประกอบการไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง
ซักแมน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นไปไม่ได้ อาจกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้” โดยขั้นต่อไป คือการนำแนวคิดนี้ไปใช้กับมหาเศรษฐีในประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่แค่กับบริษัทข้ามชาติเท่านั้น
แต่ซักแมน ก็เตือนว่า หากไม่มีแรงผลักดันจากนานาชาติในการเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำกับมหาเศรษฐี อาจเหลือประเทศที่อยากเก็บภาษีดังกล่าวไม่กี่แห่ง เป็นผู้นำการเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพียงฝ่ายเดียว
แม้การยกเลิกกฎหมายควบคุมสถาบันการเงิน และความร่วมมือด้านการเก็บภาษีขั้นต่ำ ช่วยนำไปสู่จุดจบของการแข่งขันด้านอัตราภาษีระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีได้ แต่ยังมีโอกาสมากมายที่ช่วยให้มหาเศรษฐีหาช่องทางจ่ายภาษีให้น้อยลง
ตัวอย่างเช่น คนรวยมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ แทนการเก็บเงินไว้ในบัญชี ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ด้านภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ได้อยู่ดี
ฝรั่งเศส สหรัฐ และเนเธอร์แลนด์ บอกว่า การกำหนดภาษีขั้นต่ำให้กับมหาเศรษฐี ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยของผู้มีรายได้มากอันดับต้น ๆ ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี EU Tax Observatory บอกว่า การกำหนดฐานภาษีความมั่งคั่งขั้นต่ำที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก อาจเป็นฐานอ้างอิงที่ดีที่สุดแล้ว เพราะกระแสรายได้ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนเหมือนมูลค่าทางตลาดของสินทรัพย์ และเสริมว่า ระบบเก็บภาษีความมั่งคั่งขั้นต่ำกับมหาเศรษฐีพันล้าน ควรครอบคลุมถึงคนรวยในระดับอื่น ๆ ด้วย