เงินเฟ้อ-เอไอ ดันประท้วงหยุดงานพุ่ง โรคระบาดแรงงานโลก 2023
การสไตรค์กำลังขยายวงลุกลามไปทั่วสหรัฐและยุโรป เมื่อแรงงานจำนวนมากกำลังรู้สึกถึงแรงกดดัน 2 ด้านเข้ามาพร้อมกันๆ ทั้งแรงกดดันจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่ขยายตัวสูงขึ้น
นับตั้งแต่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา (WGA) เมื่อเดือน พ.ค. เป็นต้นมา สหรัฐก็เผชิญกับการประท้วงหยุดงานของอุตสาหกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดก็คือ สหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (UAW) ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่ววงการยานยนต์โลก ซึ่งข้อมูลจากคอร์แนล ดาตา พบว่า ปีนี้สหรัฐมีการประท้วงไปแล้วถึง 318 ครั้ง มีคนประท้วงทั้งสิ้น 468,200 คน (ข้อมูลถึงวันที่ 11 ต.ค. 66)
นั่นจึงทำให้ปี 2023 นี้ เป็นปีที่มีจำนวนวันทำงานหายไปเพราะการนัดหยุดงาน สูงที่สุดในรอบ 20 ปีในสหรัฐ
นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า การสไตรค์กำลังขยายวงลุกลามไปทั่วสหรัฐและยุโรป เมื่อแรงงานจำนวนมากกำลังรู้สึกถึงแรงกดดัน 2 ด้านเข้ามาพร้อมกันๆ ทั้งแรงกดดันจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่ขยายตัวสูงขึ้นจนกัดกินค่าแรง และแรงกดดันจาก “ความเสี่ยงตกงาน” ในอนาคต จากการเข้ามาแทนที่ของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีไฮเทคอื่นๆ
และการประท้วงหยุดงานที่ลุกลามไปทั่วนี้ก็กำลังส่งผลกระทบต่อ “จำนวนวันทำงาน” ที่กำลังหดหายลงเพราะการประท้วง โดยผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ตัวเลขวันทำงานที่หายไปเพราะการสไตรค์ในสหรัฐและสหราชอาณาจักรนั้น กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตก
ที่ประเทศ “อังกฤษ” พนักงานขับรถไฟใต้ดินพากันหยุดงานประท้วงพรรคแรงงานที่จัดงานประชุมประจำปีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเดินทางโดยสาร ทำให้การเดินทางจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนที่ปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงด้วยรถไฟใต้ดิน ต้องเปลี่ยนไปเป็นรถบัสและใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือราว 5 ชั่วโมง
บรรดาสหภาพแรงงานต่างมีหลายเหตุผลที่เดินขบวนประท้วงกันในปีนี้ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมการทำงานที่แย่ลง ค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และแม้แต่อาชีพของมนุษย์เงินเดือนค่าแรงสูงอย่าง “แพทย์” และวิชาชีพต่างๆ ก็ยังเข้าร่วมการประท้วง
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นถึง 7.9% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้เกิดวิกฤติค่าครองชีพ และทำให้คนจากหลากหลายอาชีพเดินขบวนประท้วงขอขึ้นค่าแรง จนส่งผลให้วันทำงานที่หายไปเพราะการหยุดงานพุ่งขึ้นแตะ 2.51 ล้านวันในปี 2565 (จำนวนวันทำงานที่หายไปคูณด้วยจำนวนแรงงานที่หยุดงานประท้วง) หรือสูงสุดในรอบ 33 ปี และคาดว่าจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องอีกในปีนี้
ส่วนใน “สหรัฐ” ตัวเลขวันทำงานที่หายไปเพราะการหยุดงานพุ่งขึ้นแตะ 7.41 ล้านวันไปแล้ว ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ขณะที่ใน “เยอรมนี” การประท้วงหยุดงานส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริการรถโดยสารสาธารณะเกือบทุกประเภทเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน การประท้วงหยุดงานก็ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ข้างใน เมื่อแรงงานรู้สึกความเสี่ยงที่อาจต้องตกงานในอนาคต จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มาพร้อมกับเทคโนโลยียุคใหม่
การประท้วงของ WGA ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย. คือตัวอย่างของการเรียกร้องให้มีการปกป้องนักเขียนจาก “ไอเอ” เพราะนอกจากจะเรียกร้องเรื่องการเพิ่มค่าจ้างแล้ว ก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการนำเอไอมาใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จนเสี่ยงทำให้เหล่านักเขียนบทต้องตกงาน
การประท้วงที่กินเวลานานถึง 5 เดือนนี้ ยังมีสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และสหพันธ์ศิลปินวิทยุโทรทัศน์แห่งอเมริกา หรือ แซก-แอฟตรา ที่มีสมาชิกกว่า 1.6 แสนคนเข้าร่วมด้วย และส่งผลให้เฉพาะเดือน ส.ค. สหรัฐมีวันทำงานที่ต้องเสียไปเพราะการนัดหยุดงานถึงกว่า 4.1 ล้านวัน หรือสูงสุดในรอบ 20 ปี
ส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น การเปลี่ยนแปลงจากยุครถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กลายเป็นประเด็นหลักในการเจรจาหลายครั้ง เช่น สหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ว่าจะนัดหยุดงานประท้วงเพิ่ม หลังจากที่บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ตกลงจะให้พนักงานของบริษัทแบตเตอรี่อีวีได้สวัสดิการครอบคลุมแบบเดียวกับของสหภาพฯ ด้วย
นิกเกอิเ อเชีย ระบุว่าการประท้วงหยุดงานยังส่งผลกระทบต่อภาพใหญ่ของการเมืองระดับชาติด้วย เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงกับต้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปคุยกับสหภาพ UAW ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังจะมีขึ้นในปี 2567 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับรัฐบาลนั้นก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะเป็นฐานเสียง แต่การเอื้อประโยชน์ให้มากเกินไปก็จะย้อนมากระทบในแง่ผลิตผลของงานและตัวเลขเศรษฐกิจระดับชาติ
ธนาคารโกลด์แมนแซคส์ระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วน 3% ของจีดีพีสหรัฐนั้น ทุกสัปดาห์ที่มีการหยุดงานประท้วง จะฉุดจีดีพีไตรมาสเดือน ต.ค. - ธ.ค. ลง 0.05 - 0.1% จึงไม่น่าแปลกใจที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไบเดนเคยเข้ามาแทรกแซงหยุดการประท้วงของพนักงานรถไฟขนส่งสินค้ามาแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2022 โดยอ้างเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างกำลังมองหาวิธีเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่ต้องมีปัญหาการประท้วงหยุดงานจนกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตอีก ซึ่งหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้กับการจ้างงาน
เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) เปิดเผยผลการสำรวจภาคธุรกิจเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนต่างคาดว่าในระยะยาวแล้ว เอไอและอีวีจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างงานใหม่มากกว่าแย่งงานเดิม แต่ทั้งนี้ก็ย้ำด้วยว่าแรงงานจำนวนมากในปัจจุบันยังไม่มีทักษะมากพอ และเมื่อพิจารณาจากก้าวย่างที่รวดเร็วของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันแล้ว ทั้งภาคธุรกิจและภาคแรงงานเองน่าจะต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากของการหา “จุดสมดุล” ร่วมกัน ระหว่างการเติบโตกับความมั่นคงในงาน