'กษัตริย์-ขุนนาง-ราษฎร' ประจันหน้า! ย้อนประวัติพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระบรมราโชวาทเปิดการประชุมรัฐสภาในวันอังคาร (7 พ.ย.) ถือเป็น King's Speech ครั้งแรกในรอบ 72 ปี นับตั้งแต่กษัตริย์จอร์จที่ 6 ในปี 1951 กรุงเทพธุรกิจชวนย้อนประวัติพิธีสำคัญที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยสร้างพระราชวังเวสต์มินสเตอร์
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยระบุว่า พระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเป็นการเริ่มปีของการประชุมรัฐสภาและพระราชดำรัสขององค์พระประมุขเป็นการบอกถึงแนวทางของรัฐบาล ทั้งแนวนโยบายและร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะนำเสนอ
พระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาเป็นพระราชพิธีเดียวที่สามอำนาจแห่งรัฐสภาของสหราชอาณาจักร นั่นคือ องค์ประมุข สภาขุนนาง และสภาผู้แทนราษฎรได้มาพบหน้ากัน ประวัติความเป็นมาสามารถย้อนกลับไปได้ถึงการสร้างพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี 1852
พระราชพิธีเริ่มขึ้นเมื่อ Yeomen of the Guard ทหารราชองครักษ์รักษาพระองค์ทำพิธีค้นหาระเบิดที่ห้องใต้หลังคาของรัฐสภา ตามเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกาย ฟอกส์และพรรคพวกที่หวังก่อให้เกิดการลุกฮือของชาวคาธอลิก โดยการในการใช้ดินปืนระเบิดอาคารรัฐสภาเมื่อปี 1605
จากนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังบักกิงแฮมมายังรัฐสภา โดยมีกองทหารม้ารักษาพระองค์อารักขา (Household Cavalry)
พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินถึงทางเข้าขององค์พระประมุข (Sovereign’s Entrance) จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังห้องพระสำอางค์ (ห้องแต่งตัว) ทรงสวมพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท (Imperial State Crown) และฉลองพระองค์คลุม (Robe of State) จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังสภาขุนนาง
สมาชิกสภาขุนนางที่มีชื่อว่าแบล็กร็อดจะเดินข้ามฝั่งจากสภาขุนนางไปยังสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ปิดประตูใส่หน้าแบล็กร็อด เพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์ความเป็นอิสระของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นแบล็กร็อดจะใช้ไม้เคาะประตูสามครั้ง แล้วประตูสภาจะเปิดออก ส.ส. ทุกคนจะพากันพูดเสียงดังระหว่างที่เดินตามแบล็กร็อดเข้าไปยังห้องประชุมสภาขุนนางเพื่อรับฟังพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์
เมื่อเสร็จสิ้นพระราชดำรัสซึ่งทางรัฐบาลเป็นผู้ร่างถวายแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ สมาชิกรัฐสภากลับมาหารือกันในประเด็นทางการเมืองต่อไป(ภาพจาก House of Lords)